ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
(คลิป) พยัคฆ์ไพร ร่วม ก.สอบสวนกลาง ฟ้อง บ.อัคราฯ รุกป่า 15 แปลง
16 ต.ค. 2563

     กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ประสานศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ขยายผลตรวจสอบเหมืองทองของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)  กรณีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ๒๔๘๔ ในท้องที่ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดเพชรบูรณ์

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บูรณาการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อปฏิบัติการขยายผลตรวจสอบการถือครองที่ดินแบบผิดกฎหมายของกลุ่มทุน กรณีการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ๒๔๘๔ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในท้องที่ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดเพชรบูรณ์

     โดยตั้งแต่วันที่ ๘ - ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ นายอดิศร นุชดำรง อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งการให้ชุดปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ที่ปรึกษาหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) บูรณาการร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำโดยพลตำรวจโทต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พลตำรวจตรีวิวัฒน์ ชัยสังฆะ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พลตำรวจตรีพิทักษ์ อุทัยธรรม ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พันตำรวจเอกกฤษณะ สุขสมบูรณ์ รองบังคับการบก.ปทส. พันตำรวจเอกศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผู้กำกับการ ๔ บก.ปทส. คณะพนักงานสอบสวน บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบ ตรวจพบการบุกรุกพื้นที่ครอบครองการทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และทำลายทางสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในรายของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซสจำกัด (มหาชน) จำนวน ๑๕ แปลง เนื้อที่ 73-0-08 ไร่ รายละเอียดปรากฏดังนี้

 ๑. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๒/๑๕๓๖๗ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๒-๐-๑๓ ไร่
 ๒. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๗/๑๕๘๐๔ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๑๗-๒-๖๒ ไร่
 ๓. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๒๐/๑๕๘๐๗ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๔-๑-๗๕ ไร่
 ๔. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๒๑/๑๕๘๐๖ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๓-๒-๖๘ ไร่
 ๕. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๒๒/๑๕๘๐๕ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๖-๒-๑๔ ไร่
 ๖. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๒๓/๑๕๘๐๘ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๒-๒-๗๙ ไร่
 ๗. บ่อกักเก็บกากโลหะกรรมที่ ๑ ระวางรูปถ่ายทางอากาศ บ้านวังทรายพูนใน หมายเลข ๕๑๔๑ IV แผ่นที่ ๑๖๓ บุกรุกพื้นที่ป่าจำนวน ๔-๒-๗๔ ไร่
 ๘. บ่อกักเก็บกากโลหะกรรมที่ ๒ ระวางที่ดินหมายเลข ๕๑๔๑ IV ๗๔๐๐ บุกรุกพื้นที่ป่าจำนวน ๓-๐-๑๙ ไร่
 ๙. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๐/๑๕๓๖๕ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๑-๐-๖๑ ไร่
 ๑๐. แปลงประทานบัตรที่ ๒๖๙๑๑/๑๕๓๖๖ ท้องที่อำเภอทับค้อ จังหวัดพิจิตร บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๐-๓-๒๒ ไร่
 ๑๑. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๒๙/๑๕๘๐๙ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๐-๓-๐๐ ไร่
 ๑๒. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๓๐/๑๕๘๑๐ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๓-๒-๓๕ ไร่
 ๑๓. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๓๑/๑๕๘๑๑ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๑-๒-๑๐ ไร่
 ๑๔. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๓๒/๑๕๘๑๒ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๓-๒-๑๗ ไร่
 ๑๕. แปลงประทานบัตรที่ ๓๒๕๓๒/๑๕๘๑๒ ท้องที่อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ บุกรุกพื้นที่ป่า จำนวน ๙-๒-๕๙ ไร่

โดยศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานงานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยได้มอบหมายให้นายชีวะภาพ ชีวะธรรม เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนทั้งหมด 15 คดีตามประทานบัตรที่ได้รับอนุญาต

     ก่อนหน้านี้ประมาณปี 2559 ขณะที่เหมืองแร่ทองคำได้ดำเนินกิจการอยู่นั้น ได้มีกลุ่มคนออกมาประท้วงร้องเรียนว่า ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะที่เหมืองแร่เปิดอยู่ใกล้ชุมชน ส่งผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติถูกทำลายและปนเปื้อนไปด้วยโลหะหนัก ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำจากธรรมชาติได้ รวมถึงเริ่มมีอาการเจ็บป่วย มีผื่นคัน ตุ่มหนองทางผิวหนัง จนทำให้เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาลในขณะนั้นกระทั่ง 13 ธันวาคม 2559 มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72 /2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา โดยในคำสั่งระบุว่า มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา เนื่องจากได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทําเหมืองแร่ทองคําหลายแห่ง จึงมีความจําเป็นต้องกําหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกำหนดมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา จึงมีคำสั่งระงับการประกอบกิจการไว้ตั้งแต่
วันที่ 1 มกราคม 2560

     นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รวมรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2561 สามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญากับบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และผู้เกี่ยวข้องในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 และพระราชบัญญัติทางหลวง 2535 และส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบกรณีการอนุญาตให้บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน โดยที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิด อดีตอธิบดี
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่กับพวก

     หลังจากที่เหมืองทองคำได้ถูกสั่งให้ระงับการประกอบกิจการตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2559 ทางบริษัทฯได้เจรจาเพื่อยื่นข้อเสนอรัฐบาลไทย ให้ชดใช้เป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ30,000 ล้านบาท แต่การเจรจาไม่เป็นผล เมื่อเจรจาไม่สำเร็จ ทางบริษัทฯได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับรัฐบาลไทย เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากมาตรการของรัฐบาลไทย เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

     รัฐบาลไทยและบริษัทคิงส์เกต เริ่มเข้ากระบวนการไต่สวนของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 3 - 12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งการพิจารณายังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ คาดว่าอาจมีคำวินิจฉัยปลายปีนี้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...