ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
ไทยถกเอเปกชงโมเดล ‘ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์’ ฟื้นประเทศ
05 มิ.ย. 2564

‘จุรินทร์’ ร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก โชว์ 6 มาตรการแก้วิกฤตช่วงโควิด-19 นำร่อง ท่องเที่ยว ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ 1 ก.ค.นี้ วอนทุกประเทศปลดล็อคอุปสรรคจัดหาวัคซีน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปกกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC) ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีการค้าเอเปกรวมทั้งสิ้น 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปก เป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้ากับภาคเอกชนของแต่ละประเทศ โดยมีการแบ่งกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปทั้งหมด 3 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแรกเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค กลุ่มที่ 2 การรับมือทางเศรษฐกิจต่อสถานการณ์โควิด-19 และกลุ่มที่ 3 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 โดยไทยอยู่ในกลุ่มที่ 2 เรื่องการรับมือทางเศรษฐกิจต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความเห็นไปทั้งสิ้น 6 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค ประเด็นที่ 2 ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้รับมือกับวิกฤตโควิด-19 โดยใช้โมเดลการค้ายุคใหม่ เช่น การค้าออนไลน์ การจับคู่เจรจาธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสให้ SMEs และ Micro SMEs มีส่วนส่งออกสินค้าได้ต่อไป

ส่วนประเด็นที่ 3 ประเทศไทยสนับสนุนการเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศเอเปก หลังจากเกิดโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้มีการผ่อนคลายการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ โดยแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าประเทศไทยจะเริ่มเปิดโมเดลการท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ที่เรียกว่า ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ เริ่มเปิดเกาะในวันที่ 1 ก.ค. 2564

ขณะที่ประเด็นที่ 4 ประเทศไทยจัดสรรให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนและสินค้าจำเป็นโดยสนับสนุนให้มีการขจัดข้อจำกัดในการส่งสินค้าข้ามแดน และยังได้ยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับยาและเครื่องมือแพทย์จากประเทศต่างๆและประเด็นที่ 5 ประเทศไทยจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ทั่วถึงโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในความร่วมมือในระดับภูมิภาค

และประเด็นที่ 6 ประเทศไทยสนับสนุนและส่งเสริมการค้าที่นำไปสู่ความยั่งยืน เช่น กำหนดให้ BCG โมเดลเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจสำคัญในการขับเคลื่อนของประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19

สำหรับผลการประชุมหารือ มีข้อสรุปหลายประเด็น โดยมีความเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ทั้งในเรื่องวัคซีนและการเดินทางข้ามแดนระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดอุปสรรคทางการค้าและนำไปสู่ผลกระทบทั้งภาครัฐและเอกชน ทางออกที่ควรจะเป็น คือ ภาครัฐต้องไม่ออกมาตรการที่เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายวัคซีนและสินค้าจำเป็น เพื่อให้ทุกประเทศหรือทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงวัคซีนและสินค้าจำเป็นได้

ด้านภาคธุรกิจในภูมิภาคยังมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวได้เร็ว ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเอเปกจะร่วมกันผลักดันให้การเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) บรรลุผลโดยเร็ว รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเอเปกที่เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พัฒนาไปเป็นเขตการค้าเสรี หรือ FTA ต่อไปในอนาคต

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...