ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
มท.-คลัง จับมือ ประชุมผ่านระบบ Video Conference แจงนโยบายด้านเศรษฐกิจรัฐบาล
18 ส.ค. 2560

      นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน เป็นประธานร่วมในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามข้อราชการเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมี ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุม และมีการถ่ายทอดสัญญาณการประชุมผ่านระบบVDO Conference ไปยัง 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด คลังจังหวัด สรรพากรพื้นที่ อัยการจังหวัด อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้แทนฝ่ายทหาร ผู้แทนธนาคารออมสิน และผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมเพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงาน  ณ ห้องประชุม 1 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

     ในโอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดระยอง ทรงเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ Video Conference ในครั้งนี้ด้วย

     สำหรับการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้มีข้อหารือกับกระทรวงมหาดไทย ใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

     1) การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยขอให้ทุกจังหวัดกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระงานสำคัญของจังหวัด และขอให้จังหวัดที่มีความพร้อมประกาศตัวเป็นจังหวัดจัดการหนี้นอกระบบเป็นศูนย์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์กลไกการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งจังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดการหนี้นอกระบบเป็นศูนย์ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้ยกร่างโครงการ “นครนายกโมเดล” เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2560 รวมทั้งได้กำหนดให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจะทำหน้าที่ประสานส่งต่อประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไปยังจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ณ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ทุกสาขา เพื่อให้คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือให้จังหวัดประชาสัมพันธ์โครงการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อให้เจ้าหนี้นอกระบบและผู้ที่สนใจเข้ามาขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพื่อให้เจ้าหนี้เข้าสู่ระบบตามกฎหมายต่อไป

     2) การเตือนภัยเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบในส่วนภูมิภาคระดับจังหวัดให้ความสำคัญในการป้องปรามธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เพื่อลดปัญหาด้านความเสียหายที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่และเกิดกับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งด้านการเฝ้าระวัง และสอดส่องดูแลในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ให้เกิดการจัดเวทีเพื่อหลอกลวงให้มีการฉ้อโกงประชาชน

     3) โครงการ National e-Payment โดยขอให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์โครงการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) แก่หน่วยงานภาครัฐและร้านค้าภายในจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐและร้านค้าเร่งติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาคัดเลือกพื้นที่นำร่อง เช่น ตลาดนัด และถนนคนเดินในจังหวัด ในการส่งเสริมให้ร้านค้าติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งการค้าที่สนับสนุนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บัตรเดบิตแทนการใช้เงินสด ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

     4) การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Start Up) โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีของจังหวัด และสถาบันการศึกษาในจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ Startup Club ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรของนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา 77 แห่งทั่วประเทศ (1 จังหวัด 1 โรงเรียน) ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเน้นการประชาสัมพันธ์นโยบายการส่งเสริม Start Up ของรัฐบาลให้ประชาชนได้รับทราบ

     ในโอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ประทานแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและแชร์ลูกโซ่ โดยทรงเน้นย้ำในเรื่องการส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในเรื่องของการวางแผนการเงินของตนเองในระดับพื้นฐาน อย่างเช่น ในการเริ่มธุรกิจ เริ่มประกอบอาชีพ จะต้องหาแหล่งเงินอย่างไร และจะต้องมีการประเมิน ประมาณการอย่างไร ถ้าประชาชนมีความรู้ตรงนี้แล้ว การประกอบอาชีพก็อาจจะขาดทุนน้อยลง และการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจในการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันจะช่วยลดปัญหาได้

     ทั้งนี้ จากการประชุมในครั้งนี้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำว่า การประชุมหารือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ และร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความมั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเข้าไปช่วยเหลือ คลี่คลายทุกข์ของพี่น้องประชาชน และเสริมสร้างเศรษฐกิจ ความอยู่ดี กินดีให้กับประชาชนในพื้นที่

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...