ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ข่าวเด่น / ไฮไลท์ ย้อนกลับ
รัฐประกาศความพร้อม บริหารจัดการน้ำรับมือฝนปีนี้
12 มิ.ย. 2562

  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “สร้างรู้ สื่อสาร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2562” ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านน้ำร่วมงานกว่า 40 หน่วยงาน ผู้ร่วมงานประมาณ 800 คน สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการเสวนาหัวข้อ “ต่อยอดนวัตกรรม ยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” จาก 5 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย สทนช. กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย และกองทัพไทย รวมทั้งภาคประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการจำลองและสาธิตการปฏิบัติการจริงของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ และการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมจาก 13 หน่วยงานด้านน้ำ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ นำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อม และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดอย่างยั่งยืน 

นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำว่า  รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด และจัดสรรงบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งจากการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอดประสานร่วมกันให้เกิดความเป็นเอกภาพ โดยมี สทนช.เป็นหน่วยงานกลางในการอำนวยการ กำกับดูแล ติดตาม อย่างใกล้ชิด โดยมีการเตรียมมาตรการในเชิงป้องกันก่อนที่ผลกระทบจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2562 นอกจากการเตรียมการของแต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักแล้ว การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และชี้แจงไปยังประชาชนได้รับทราบถึงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา และสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับภาคประชาชน รวมถึงเป็นการเตรียมการรับมือป้องกันภัยของตนเองอย่างรู้เท่าทัน และปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่จะลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

ด้าน นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนในปีนี้ว่า ได้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการเพาะปลูกให้ชัดเจน ทั้งในเขต/นอกเขตชลประทาน ได้มีการปรับปรุง Rule Curve ใหม่เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำใหม่ทั่วประเทศ  สำรวจแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ ดำเนินการเชิงป้องกันความเสี่ยงอุทกภัย พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลาก สำหรับเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้และแผนการป้องกัน รับมือ และเผชิญเหตุอุทกภัย ตรวจสอบสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบการระบายน้ำ สถานีโทรมาตร เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ สำรวจแม่น้ำ คูคลอง และดำเนินการขุดลอกกำจัดผักตบชวา ตลอดจนขยะ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคกีดขวางการระบายน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก เตรียมความพร้อม เครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ  

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และการแจ้งเตือนล่วงหน้าพร้อมแนวทางการปฏิบัติ รวมถึงการกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติเพื่อบริหารจัดการน้ำในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤติ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ศูนย์ปฎิบัติการ ได้แก่ 1.) ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติของ สทนช. เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน ติดตาม ข้อมูลจากหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ประจำวัน ซึ่งเป็นการดำเนินการภาวะปกติ หรือ ระดับที่ 1 ระดับสีเขียว 2.) ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติจะเริ่มปฏิบัติงาน เมื่อมีพายุก่อตัวและคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย หรือความกดอากาศต่ำพาดผ่าน มีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมหลายจังหวัด คิดเป็นปริมาณฝนสะสม 3 วัน มากกว่า 200 มม. ปริมาณน้ำในลำน้ำมากกว่า 60% ของความจุลำน้ำ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 60% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือสูงกว่าเส้นควบคุมบนของ Rule Curve คือ อยู่ในเกณฑ์ระดับที่ 2/3 หรือ ระดับสีเหลือง/ส้ม ซึ่งคาดว่าศูนย์ฯ จะเริ่มปฏิบัติงานช่วงกลางเดือนกรกฏาคมนี้เนื่องจากมีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์พายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทย และ 3.) ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีสถานการณ์รุนแรงในระดับประเทศ  เข้าสู่ระดับ 4 ระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด มีผลกระทบในวงกว้าง โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์ พื้นที่รับผลกระทบไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ที่กำกับดูแลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเร่งด่วนตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...