ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
เวียดนาม ความสำเร็จในการคุม COVID-19 ของประเทศที่ไม่มีทรัพยากรในการตรวจเชื้อจำนวนมาก
09 เม.ย. 2563

COVID-19 เป็นปัญหาทั่วโลกไปแล้วในขณะนี้ เรียกได้ว่า ไม่มีประเทศไหนที่ไม่ต้องจัดการการระบาดของ COVID-19 ตอนนี้เรารู้แล้วว่า มาตรการที่สำคัญที่สุดในการจัดการคือการตรวจเชื้อให้ได้มากที่สุด เรียกได้ว่าตรวจคนให้ได้มากที่สุด ยังไงก็มีผลดีมากกว่าเสีย เพราะการตรวจนั้น บอกกับเราทุกอย่าง ตั้งแต่มีผู้ติดเชื้อจริงๆ เท่าไร ไปจนถึงประสิทธิภาพของนโยบายต่างๆ ในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

ปัญหาคือ ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะมีปัญญาทำอย่างนี้

เราอาจรู้สึกว่า การจับคนตรวจจำนวนมากของเกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนี หรือกระทั่งสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรจะทำเหมือนกันหมด แต่ในความเป็นจริง ประเทศที่เศรษฐกิจเจริญมากๆ และมีพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าพอสมควรเท่านั้นถึงจะมีความสามารถในการตรวจ COVID-19 กับคนจำนวนมากได้ เพราะการทำแบบนี้จำเป็นต้องมีทั้งบุคลากรในการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย ไปจนถึงห้องแล็บและบุคลากรในห้องแล็บมากพอที่จะเอาตัวอย่างมาตรวจ

ดังนั้น ไม่ต้องไปพูดถึงประเทศแถบแอฟริกาที่ยังไงก็ไม่มีความสามารถในการตรวจระดับเกาหลีใต้แน่ๆ หรอกครับ เพราะแค่บ้านเรา เรายังไม่มีศักยภาพที่จะตรวจได้ขนาดนั้นเลย และนี่ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่เราไม่มี ซึ่งมันสร้างขึ้นมาแบบข้ามคืนไม่ได้ (เว้นแต่จะมีเทคโนโลยีการตรวจแบบใหม่มา ซึ่งก็ต้องว่ากันใหม่)

แต่ถามว่า ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรในการตรวจมากมายนี่ยังไง ก็จะต้องล้มเหลวกับการควบคุม COVID-19 เหรอ? คำตอบคือไม่ใช่ โลกไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น และตอนนี้ประเทศที่เป็น “ตัวอย่าง” ของการควบคุม COVID-19 ได้ดี ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรไม่มากก็คือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม

เพราะในตอนนี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2020 เวียดนามพบผู้ป่วย COVID-19 ไม่ถึง 300 คน และยังไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่พรมแดนติดกับจีนและใกล้ชิดกับจีนมาก

คำถามคือเวียดนามทำยังไง?

คำตอบคือ เวียดนามรู้ตัวตลอดว่า ถ้ามีการระบาด ตนจะไม่มีความสามารถในการตรวจผู้ป่วยจำนวนมากได้ เวียดนามจึงใช้แนวทาง “ตัดไฟแต่ต้นลม” แบนทุกเที่ยวบินจากจีนตั้งแต่ 1 ก.พ. 2020 ที่ผ่านมา (เทียบกับบ้านเรา เพิ่งปิดการบินเข้าไทยเมื่อ 4 เมษายน 2020 ที่ผ่านมา)

แนวทาง “รีบแบนเที่ยวบินจากจีน” นี้ เป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้แล้วได้ผลมาก เรียกได้ว่า ประเทศไหนแบนได้เร็ว ก็จะจำกัดการระบาดไปได้มาก (ที่เด่นสุดคงหนีไม่พ้นไต้หวันที่เป็นประเทศแรกในโลกที่แบนเที่ยวบินจากอู่ฮั่น)

นี่เป็นก้าวที่ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ ของเวียดนาม (ซึ่งจะบอกว่า “ควรเอาอย่าง” ก็ไม่ได้ เพราะจะมาเอาอย่างตอนนี้ก็ไม่ทันซะแล้ว)

แต่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะในเทคนิคการควบคุมโรคแบบ “โลว์เทค” ไม่ได้มีแค่ยับยั้งการเดินทางจากผู้มาจากพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น เพราะยังไงมันก็ต้องมีคนจากพื้นที่เสี่ยงหลุดมา

นี่คือสิ่งที่เวียดนามทำต่อมาคือ เมื่อพบผู้ป่วยรายแรกๆ แล้ว สืบสาวว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นคนงานเวียดนามในอู่ฮั่น ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเล็กๆ หนึ่งในเวียดนาม ทางการเวียดนามก็ทำการปิดไม่ให้คนเข้าออกจังหวัดนั้นเป็นเวลา 21 วันทันที

เทคนิคแบบนี้ ได้ผลในหมู่บ้านเล็กๆ ในอิตาลีมาแล้วในการทดลองที่อิตาลี แต่ความแตกต่างคือ เวียดนามไม่ได้จับทุกคนในจังหวัดเล็กๆ ที่มีประชากรหลักหมื่นคนนี้มาตรวจ แล้วกักกันเฉพาะคนที่ติดเชื้อ แต่เวียดนามกักคนทั้งจังหวัดเอาไว้ เพื่อให้ผู้ที่มีโรคแต่ไม่แสดงอาการได้หายจากโรคในเวลากักกัน ส่วนใครมีอาการหนักๆ ก็ค่อยตรวจและรักษา อันเป็นมาตรการขั้นต่ำที่ประเทศที่ทำการตรวจน้อยๆ ทุกประเทศใช้อย่างใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีวัฒนธรรมที่ประชาชน “เป็นหูเป็นตาให้รัฐ” ตามประสาประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งนี่ก็หมายความว่า ถ้ามีคนแปลกหน้าจากต่างแดนเข้ามาในพื้นที่และมีอาการป่วย ประชาชนก็จะไม่รีรอที่จะแจ้งให้รัฐรู้ และนี่ก็ทำให้การติดตามผู้มีความเสี่ยงเป็นไปได้ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมากมายคอยช่วยเหลือในการสอดส่องแบบในอีกหลายประเทศ

ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ตัวเลขผู้ป่วยไม่ถึง 300 คน โดยปราศจากผู้เสียชีวิตของเวียดนามจะสมบูรณ์แบบไปหมด การ “ตรวจน้อย” ของเวียดนาม ทำให้นานาชาติสงสัยว่า อาจมีผู้ป่วยจริงมากกว่าจำนวนที่ตรวจเจออีกหลายเท่าหรือเปล่า? อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้หลายๆ ชาติก็เข้าใจแล้วว่า โมเดลในการเผชิญหน้ากับ COVID-19 แบบเกาหลีใต้ สิงคโปร์ เยอรมนี หรือกระทั่งไต้หวันนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศอื่นๆ นึกจะเลียนแบบก็เลียนแบบได้ เพราะถ้าโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม รัฐที่วิสัยทัศน์ก้าวไกลขนาดไหนก็ไม่มีทางจะมี “ทางออก” ในแบบสองประเทศนี้ได้ และประเทศน่าจะค่อนโลกก็ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานพอที่จะหาทางออกของวิกฤต COVID-19 ได้อย่างประเทศที่กล่าวๆ มา

และก็นี่แหละครับ ที่ทำให้ “เวียดนามโมเดล” เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่จะต้องเผชิญหน้ากับ COVID-19 โดยที่ไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขหรูหราอะไร

.Cr.BrandThinkme

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...