ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมสุขภาพจิต แนะลูกหลานดูแลใจผู้สูงวัย ในช่วงวิกฤตโควิด-19
13 เม.ย. 2563

กรมสุขภาพจิต แนะลูกหลานและญาติ ดูแลใจผู้สูงวัย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยหมั่นสังเกตผู้สูงอายุว่ามีความเครียด วิตกกังวลมากเกินไปหรือไม่ ใส่ใจรับฟัง ดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ให้ป้องกันตัวเองตามคำแนะนำ ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย สื่อสารชัดเจน ชวนให้ทำกิจกรรมภายในบ้าน เพื่อผ่อนคลายความเครียด


วันนี้ (13 เมษายน 2563) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันผู้สูงอายุ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี และเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือวันปีใหม่ไทย ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังคงต้องต่อสู้และเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ให้แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้สูงอายุ โดยการ             ขอพรท่านผ่านทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ ส่งใจผ่านหน้าจอสำหรับผู้ที่ไม่ได้กลับบ้าน ซึ่งสามารถส่งความรัก ความห่วงใย ส่งความคิดถึงกันได้เหมือนเดิม และหากลูกหลานอยู่ที่บ้าน ให้เว้นระยะห่างในการกราบไหว้ขอพรผู้สูงอายุ งดรดน้ำ งดเล่นน้ำ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสผ่านน้ำ และงดการสังสรรค์รวมกลุ่มต่างๆ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 อาจก่อให้เกิดความกลัว วิตกกังวลใจ ความเครียดของบุคคลในครอบครัวขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้สูงวัย กรมสุขภาพจิต จึงขอแนะนำลูกหลาน ญาติ หรือผู้ดูแล เกี่ยวกับวิธีการดูแลใจผู้สูงวัย ไม่ให้วิตกกังวลกับไวรัสโควิด-19 มากจนเกินไป ดังนี้


 1. หมั่นสังเกตผู้สูงอายุว่า มีความเครียด วิตกกังวลมากเกินไปหรือไม่ เช่น ไม่สบายใจ หงุดหงิด อารมณ์เสีย โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เจ็บป่วยมากขึ้น หากพบว่า ผู้สูงอายุมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ เครียด ซึมเศร้า ให้พาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323


2. ดูแล ใส่ใจรับฟัง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ จะต้องดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องอาหารการกิน  การนอนหลับพักผ่อน ใส่ใจรับฟัง ให้กำลังใจ ชักชวนให้ผู้สูงอายุปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ เพื่อป้องกันตัวเอง โดยการล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างกันภายในครอบครัว 1-2 เมตร จะช่วยลดโอกาสการรับหรือแพร่เชื้อได้ 


3. สื่อสารชัดเจน สร้างความเข้าใจในช่วงวิกฤตโควิด-19 บอกเล่าเหตุผลของการอยู่บ้าน ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย ควรใจเย็น อดทน เพราะอาจต้องพูดซ้ำหลายรอบ เนื่องจากอาจมีผู้สูงอายุบางคน มีปัญหาหลงลืม อาจต้องบอกบ่อยๆ หรืออาจถูกท่านถามซ้ำ ก็ขอให้พูดให้ฟังซ้ำ


 4. ชักชวนทำกิจกรรมภายในบ้าน เพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น เดินออกกำลังกายภายในบริเวณบ้าน ทำอาหาร ฟังเพลง ร้องเพลง รดน้ำต้นไม้ สวดมนต์ ทั้งนี้ หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ถ้าหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด


 ทั้งนี้ หากชาวไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการต่างๆ ของรัฐ จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...