ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
ตรวจความพร้อมหอสมุดเมืองและห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต
14 พ.ค. 2563

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.)ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร รองรับมาตรการปลดล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ของรัฐบาล โดยมี นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว นายสุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตพระนคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักงานเขตพระนคร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (Bangkok World Book Capital 2013) โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดและนโยบายของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่จะผลักดันให้เมืองหลวงของประเทศไทยเป็น “มหานครแห่งการเรียนรู้” และเพื่อเพิ่มแหล่งการเรียนรู้แห่งใหม่ที่รวบรวมองค์ความรู้อันทรงคุณค่า และแหล่งภูมิปัญญา ด้วยเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ทันสมัยครบวงจร สร้างวัฒนธรรมรักการอ่านอย่างยั่งยืนและเป็นรากฐานในการพัฒนาตนเองตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok City Library) จะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงความเป็นมาของกรุงเทพมหานครตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

โดยอาคารหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูง 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 4,880.38 ตารางเมตร ลักษณะอาคารได้รับการออกแบบให้มีความโอ่โถง โปร่งสบาย ตามแนวคิด “แสงแห่งปัญญา” (Wisdom of Life) เพราะการเรียนรู้เปรียบเสมือนแสงสว่าง โดยกรุงเทพมหานครได้จัดสรรพื้นที่ใช้สอยไว้ทั้งหมด 4 ชั้น (รวมชั้นลอย) ดังนี้

ชั้นที่ 1: “ตามรอยทางของพระราชา ตามรอยแสงแห่งปัญญา” (Follow the Light of Wisdom of the King Bhumibol Adulyadej) จะให้บริการหนังสือ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ส่วนบริการข้อมูลภายในหอสมุดและข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว ห้องฉายภาพยนตร์ (ปิดให้บริการชั่วคราวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19) และห้องสมุดสำหรับผู้พิการ ประกอบด้วยห้องสมุดเสียง หนังสืออักษรเบรลล์ สื่อภาพและสื่อโสตทัศน์ต่างๆ

ชั้น M: เมื่อเด็กน้อยจะขอตามรอย “แสงแห่งปัญญา” (Play, Lear and Grow together with the Light of Wisdom) จะรวบรวมหนังสือ วรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ห้องสมุดเด็กปฐมวัย รวมถึงกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับครอบครัว

ชั้นที่ 2: “โลกแซ่ซ้องพระบารมี เจริญไมตรีแห่งมหานคร” (Welcome to the Land of the Great King) จะรวบรวมเรื่องราวของเมืองหลวงนานาประเทศ และหนังสือจากสถานทูตในประเทศไทย หนังสือจากประเทศบ้านพี่เมืองน้องของกรุงเทหมหานคร ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียน พร้อมทั้งหนังสือสื่อการเรียนรู้หลายหลายในด้านต่างๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลในประเทศและต่างประเทศ วรรณกรรมคลาสิก อีกทั้งยังมีห้องค้นคว้า หรือ Study Room (ปิดให้บริการชั่วคราวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19) และห้องประชุมอเนกประสงค์ (ปิดให้บริการชั่วคราวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19) ตลอดจนนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับการอ่าน

ชั้นที่ 3: “แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา” จะรวบรวมองค์ความรู้ ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวพระราชดำริ หลักการทรงงาน ตลอดจนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยครอบคลุม 9 หมวดสำคัญ ได้แก่ ผังเมือง ระบบคมนาคมขนส่ง สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ความสะดวกสบายและความปลอดภัย การแพทย์ เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ ระบบการศึกษา และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน อีกทั้งยังรวบรวมเรื่องราว เอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ และโสตทัศนวัสดุ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานครในด้านต่างๆ อาทิ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการคมนาคม ผังเมือง ประชากร ศาสนา รวมถึงโครงการต่างๆ และหนังสือพิเศษที่หน่วยงานกรุงเทพมหานครเป็นผู้ผลิตขึ้น

จากนั้น ปลัดกรุงเทพมหานครและคณะ ได้ตรวจความพร้อมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) พร้อมตรวจเยี่ยมการทำงานของศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด-ทองคำ บำเพ็ญ และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยมี นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตดุสิต พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตดุสิต ร่วมลงพื้นที่ ณ ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) เขตดุสิต

สำหรับห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) เลขที่ 23 ถนนทหาร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต ลักษณะอาคาร เป็นอาคาร 5 ชั้น ให้บริการยืม - คืนหนังสือ รับสมัครสมาชิก บริการอินเทอร์เน็ต บริการหนังสือพิมพ์และวารสาร และบริการกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน แต่เดิมตั้งอยู่ตรงข้ามสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเกียกกาย (ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) ในปัจจุบัน) แต่ได้มีการปิดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากต้องคืนพื้นที่เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

จากนั้นสำนักการโยธาจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ได้รับผลกระทบตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ภายในสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเกียกกาย ถนนทหาร แขวงถนนนครไชยศรี โดยใช้ชื่อเป็นทางการว่า ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด-ทองคำ บำเพ็ญ ศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร และหน่วยบริการเร่งด่วนกรุงเทพมหานคร (BEST) ดุสิต โดยห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิตได้เปิดทำการใหม่อีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค. 61 เป็นต้นมา

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดสถานที่เพิ่มเติม เพื่อรองรับมาตรการปลดล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ของรัฐบาล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งคาดว่าสถานที่ที่จะเปิดเพิ่มเติมจะมีหอสมุดและห้องสมุดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใช้บริการในการศึกษาหาความรู้ ในวันนี้จึงได้มาตรวจสอบการเตรียมการของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต พบว่าได้มีการเตรียมมาตรการต่างๆ ได้แก่ การจัดให้มีจุดคัดกรองด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้า รวมถึงบริเวณต่างๆ ภายในห้องสมุด

การจัดที่นั่งอ่านหนังสือให้มีระยะห่าง 1.5 - 2 เมตร จากปกตินั่งโต๊ะละ 4 คน ได้มีการจัดให้เหลือเพียงโต๊ะละ 1 คนเท่านั้น โดยแต่ละโต๊ะจะต้องมีระยะห่างกัน และนั่งหันหน้าไปแนวเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้เข้าใช้บริการจะต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า โดยให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่อนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในพื้นที่การอ่าน ในส่วนของการทำความสะอาดหอสมุดและห้องสมุดของกรุงเทพมหานครทั้ง 36 แห่ง ได้กำชับให้มีการทำความสะอาดทุกชั้น ทุกพื้นที่ รอบละประมาณ 30 นาที วันละ 3 รอบ ได้แก่ ก่อนเปิดให้บริการ ระหว่างวัน และหลังปิดให้บริการ โดยหอสมุดกรุงเทพมหานครจะเปิดให้บริการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น. และปิดให้บริการในวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ส่วนห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต จะเปิดให้บริการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 08.30 - 16.30 น. และปิดให้บริการในวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถยืมหนังสือจากหอสมุดและห้องสมุดของกรุงเทพมหานครผ่านระบบออนไลน์ หรือช่องทางโทรศัพท์ได้ โดยจะต้องเป็นสมาชิกอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรหัสสมาชิกและค้นหาหนังสือให้เรียบร้อย จะติดต่อกลับให้มารับหนังสือ โดยอาจมารับด้วยตนเอง หรือผ่าน Line Man / Grab Messenger ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องรับผิดชอบค่าจัดส่ง และชดใช้ในกรณีหนังสือสูญหาย สำหรับการคืนหนังสือ ผู้ใช้บริการสามารถคืนหนังสือผ่านตู้ยืม - คืนหนังสืออัตโนมัติ เพื่อเป็นการเว้นระยะห่างตามมาตรการ Physical Distancing โดยจะมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดตู้ทุก 1 ชั่วโมง

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากทางรัฐบาลประกาศให้มีการเปิดให้บริการ กรุงเทพมหานครก็มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการหอสมุดและห้องสมุดในทุกที่ โดยจะมีการจำกัดจำนวนคนที่จะเข้าใช้บริการ สำหรับหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ในเบื้องต้นกำหนดให้เข้าใช้บริการได้รอบละ 70 คน แบ่งเป็น 2 รอบ ดังนี้ เวลา 09.00 - 12.00 น. และ 13.00 - 16.00 น. แต่เนื่องจากพื้นที่มีขนาดใหญ่ มีโต๊ะเก้าอี้เพียงพอ อาจจะมีการเพิ่มเติมจำนวนผู้เข้าใช้บริการได้อีก โดยยังคำนึงถึงมาตรการในการเว้นระยะห่าง ส่วนห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต และห้องสมุดอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กลงมา ในเบื้องต้นได้กำหนดให้เข้าใช้บริการได้รอบละ 50 คน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามาตรการที่กรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...