ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
แนะเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน ระวังโรคราสนิมหม่อนระบาด
03 พ.ย. 2558

แนะเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน

ระวังโรคราสนิมหม่อนระบาด

                กรมหม่อนไหมแนะเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเฝ้าระวังโรคราสนิมหม่อนในช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งหากรุนแรงมากจะไม่สามารถนำใบหม่อนมาเลี้ยงไหมได้ ควรใช้วิธีผสมผสานในการบริหารจัดการแปลงหม่อน ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ การเพิ่มระยะปลูกหม่อนให้มากขึ้น และการตัดแต่งกิ่งหม่อนให้โปร่ง หรือหากระบาดแล้วต้องพ่นสารกำจัดเชื้อ และทำลายกิ่งที่มีเชื้อแหล่งเพาะอาศัยของเชื้อโรค

นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเย็นและมีความชื้นสูง เป็นช่วงที่มีศัตรูหม่อนที่สำคัญชนิดหนึ่งระบาด คือ โรคราสนิมหม่อน โดยสปอร์ของเชื้อราจะแพร่กระจายไปกับฝนและลม  ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของใบหม่อนในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยใบหม่อนที่แสดงอาการของโรคนี้จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีเหลือง หรือสีน้ำตาลปนแดง และบวมขึ้นเป็นตุ่มแผลใหญ่ขึ้น เมื่อเนื้อเยื่อใบหม่อนถูกทำลายและแตกออกจะเห็นสปอร์ของเชื้อรามีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาลปนแดงคล้ายสนิมอยู่บนตุ่มแผล กระจัดกระจายทั่วไปด้านใต้ใบ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ใบหม่อนมีสีเหลืองทั้งใบและแห้งเป็นสีน้ำตาลและร่วงหล่น โดยความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุ์หม่อน การบริหารจัดการแปลงหม่อน เป็นต้น ซึ่งใบหม่อนที่แสดงอาการรุนแรงจะมีคุณภาพต่ำไม่เหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงไหม

อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อไปว่า การป้องกันและกำจัดโรคราสนิมหม่อนนั้น ควรใช้วิธีผสมผสานในการบริหารจัดการแปลงหม่อน โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกปลูกหม่อนพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคราสนิม เช่น พันธุ์คุณไพ พันธุ์สกลนคร เป็นต้น การปลูกควรลงปลูกหม่อนแบบแถวเดี่ยว เพิ่มระยะปลูกหม่อนให้มากขึ้น โดยระยะห่างระหว่างต้นหม่อนต้องไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวไม่น้อยกว่า 2 เมตร ควรตัดแต่งกิ่งหม่อนให้โปร่ง และไม่ปล่อยให้ใบหม่อนมีอายุแก่เกิน 3 เดือน เป็นต้น  ในกรณีที่ปลูกหม่อนในพื้นที่ที่เคยเกิดโรคระบาดมาแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งหม่อนก่อนช่วงที่เคยเกิดโรคระบาด และหลังจากตัดแต่งกิ่งแล้วประมาณ 30 - 45 วัน ควรพ่นสารกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรอะดิมิฟอส สารอินทรีย์ NA-8159 เป็นต้น หากมีการพ่นสารเคมีควรเว้นระยะการเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหม โดยระยะที่ปลอดภัยคือ หลังพ่นสารเคมี 40 วัน สำหรับกิ่งและใบหม่อนที่ตัดทิ้งแล้วควรนำไปเผาทำลาย ไม่ควรนำกิ่งที่ตัดทิ้งแล้วมาคลุมแปลงหม่อน โดยเฉพาะกิ่งหม่อนที่มีเชื้อราโรคราสนิมเข้าทำลาย เนื่องจากจะเป็นแหล่งเพาะอาศัยของเชื้อโรคและระบาดต่อไปอย่างรุนแรงได้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...