ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
นัดฟังคำพิพากษา
10 มิ.ย. 2559

       วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 15.15 น. ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อม. 27/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อายุ 72 ปี ลูกเขยเจ๊เกียว อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และนายวิทยา เทียนทอง อายุ 75 ปี อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต ส.ส.สระแก้ว พรรคไทยรักไทย เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 17 กรณีเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2544 - 20 ก.ย. 2545 พวกจำเลยได้ร่วมกันทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 367 ล้านบาท โดยอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2558 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธต่อสู้คดีและได้ประกันตัวในชั้นไต่สวน
       
       โดยวันนี้จำเลยทั้งสองเดินทางมาศาล พร้อมญาติและผู้ติดตามส่วนหนึ่งที่มาให้กำลังใจ โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด ขณะที่องค์คณะผู้พิพากษา ประชุมหารือกันนานกว่า 5 ชั่วโมง ระหว่างนี้นายวิทยามีอาการปวดหัว ความดันกำเริบ ต้องวัดความดันถึง 2 ครั้ง ซึ่งความดันสูงเกือบ 200 มิลลิเมตรปรอท
       
       ต่อมาเวลา 15.15 น. องค์คณะได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา โดยศาลฎีกาฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานจากสำนวนการสอบสวนของกองปราบปรามที่มีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้รวบรวมหลักฐานข้อเท็จแล้วสรุปส่งให้ป.ป.ช. ซึ่งป.ป.ช.ไต่สวนแล้วมีมติว่าเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร และเอกชนร่วมกันในลักษณะสมยอมเสนอราคา ทำให้การประกวดราคาไม่เป็นธรรมตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติของเอกชนที่เข้าร่วมประมูลว่าให้บริษัทที่จะยื่นซองประกวดราคาต้องมีปุ๋ยอินทรีย์ในสต๊อกชนิดเดียวกันกับที่ระบุในซองประกวดราคาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งกรณีไม่มีเอกชนรายใดมีเงื่อนไขตามที่กำหนด รวมทั้งขั้นตอนในการประกวดราคาและการเสนอเรื่องให้อนุมัติกระจำโดยเร่งรีบ แม้จะมีการยื่นหนังสือจากปลัดกระทรวงเกษตรฯ และประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ของสภาผู้แทนราษฎร์ในวันที่ 11 และ 16 ก.ย.2549 เพื่อจะให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเสียก่อนหลังจากที่ได้เรียกผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตรมาชี้แจง ซึ่งกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ยังไม่มีการยืนยันว่าหน่วยงานทั้งสองพอใจต่อคำชี้แจงของกรมส่งเสริมการเกษตรในเรื่องการจัดซื้อและเรื่องการรับราคาประมูลของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรฯ แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบกลับไม่ตั้งคณะกรรมการดำเนินการ แต่ได้มีประวิงเวลากระทั่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงนามทำสัญญากับ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจัดซื้อปุ๋ยมูลค่ากว่า 367 ล้านบาทเศษ
       
       พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-2 เร่งรีบในการพิจารณารับราคาในการประกวดราคาจัดซื้อปุ๋ย และไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อพิรุธในการจัดซื้อปุ๋ยที่น่าจะทราบมาตั้งต้น ทั้งที่น่าจะมีข้อมูลว่าการประกวดราคามีข้อพิรุธหลายรายการทั้งเรื่องการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคาและการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติที่ระบุว่าจะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์ อีกทั้งการจัดซื้อเป็นลักษณะรวมความช่วยเหลือจากอุทกภัย ภัยแล้ง และภัยจากพายุดีเปรสชั่น เป็นการรวมจัดซื้อในคราวเดียว ทำให้ต้องมีการจัดซื้อเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งที่รัฐบาลขณะนั้นยังไม่มีการเสนอโครงการว่าจะมีการช่วยเหลือโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่กระทรวงเกษตรกลับอนุมัติให้จัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์
       
       นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะรัฐมนตรีต้องมีความใส่ใจในการตรวจสอบกรณีดังกล่าวที่มีข้อมูลว่าน่าจะทุจริต และเมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. จ.อุดรธานีได้อภิปรายถึงจำเลยที่ 1 โดยขอให้จำเลยที่ 1 ตรวจโครงการจัดซื้อปุ๋ยที่มีข้อสังเกตหลายประการว่าส่อไปในทางทุจริต แต่จำเลยกลับเพิกเฉย ไม่สั่งการให้ตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยงานนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 นับเป็นข้อพิรุธ ส่วนที่จำเลยอ้างว่ามอบหมายให้ที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนัก และเมื่อมีหนังสือเสนอให้จำเลยระงับโครงการไว้ก่อน แต่จำเลยกลับเร่งรัดรับการอนุมัติราคากระทั่งมีการเซ็นสัญญา
       
       องค์คณะเสียงข้างมาก มีพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และ 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานสนับสนุน ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และ 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 157 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี
       
       ภายหลังฟังคำพิพากษา นายชูชีพ มีสีหน้าตกใจจนต้องใช้ยาดมบรรเทาอาการ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวทั้งสองขึ้นรถตู้เพื่อไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ดำเนินกระบวนพิจารณาคดี โดยอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ วันที่ 31 มี.ค. 2558 ซึ่งศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2558 โดยอัยการโจทก์ นำพยานเข้าไต่สวน รวม 8 ปาก จำเลยทั้งสองยื่นไต่สวนพยานรวม 15 ปาก
       
       สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า ระหว่างวันที่ 17 ก.พ. 2544 - 20 ก.ย. 2545 นายชูชีพ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น รมว.เกษตรฯ และ นายวิทยา จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรฯ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีเสนอให้มีการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยจำเลยทั้งสอง มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอโครงการจัดซื้อปุ๋ยได้กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกระทำการส่อไปในทางทุจริต ในการร่วมกันกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) เป็นผู้ประมูลได้เพียงรายเดียว โดย ป.ป.ช.เคยมีหนังสือท้วงติงจำเลยที่ 1 ถึงการกระทำดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยไม่ตรวจสอบ และยังดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 ได้เขียนบันทึกท้ายโครงการดังกล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า ป.ป.ช.รับทราบเรียบร้อยแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1-2 ได้รับหนังสือทักท้วงจากหลายหน่วยงาน แต่กลับมีเจตนาประวิงเวลา ไม่ตรวจสอบ และภายหลังการทำสัญญา ชสท.นำปุ๋ยที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และไม่ได้มาตรฐานไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ทำให้เกิดการเสียหาย โดยนายชูชีพ อดีต รมว.เกษตรฯ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน ส่วนนายวิทยา อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นสมุดบัญชีเงินฝาก เพื่อขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งองค์คณะฯ อนุญาตโดยตีราคาประกันคนละ 17 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
       
       คดีดังกล่าว ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2555 ชี้มูลความผิดนักการเมืองทั้ง 2 ราย และยังชี้มูลความผิดวินัยและอาญาข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ บริษัทเอกชน และผู้บริหาร ชสท.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมูลด้วย ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตรดังกล่าวใช้งบประมาณ 367 ล้านบาท ปริมาณปุ๋ย 1.31 แสนตัน เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 2545 แต่ปรากฏว่ามีการฮั้วประมูลและนำปุ๋ยปลอมมาผสมด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...