ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
ฝรั่งชังเอเชีย
01 มิ.ย. 2563

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

 

ฝรั่งชังเอเชีย

          นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เอเชีย-อเมริกัน ระบุเอาไว้ว่า ได้เกิดกระแสการเลือกปฏิบัติต่อชาวเอเชียในสังคมสหรัฐอเมริกามายาวนานต่อเนื่องที่นำไปสู่การข่มขู่ คุกคาม จนถึงขั้นการทำร้ายร่างกาย 

         ยิ่งมีเรื่องโรคไวรัส COVID-19 ที่ขณะนี้กำลังระบาดทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 ล้านคน โดยสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในโลก ก็ยิ่งทำให้การเลือกปฏิบัติต่อชาวเอเชียโดยเฉพาะ “คนจีน”ในอเมริกากลายเป็นความเกลียดชังที่มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น

        ชาวอเมริกันที่กำลังช็อคกับสถานการณ์ในบ้านตัวเองที่หลังจากเหตุการณ์ “ 9/11” เมื่อปี 2001 แล้วเชื่อมั่นว่าอเมริกาปลอดภัยจากการก่อการร้าย แต่กลับถูกโจมตีจากไวรัสที่มองไม่เห็นตัวจนมีผู้เสียชีวิตนับแสนคนจากจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับ 1.6 ล้านคน

         ผลกระทบไม่ใช่แค่นั้น เพราะไวรัสร้าย COVID-19 ยังทำให้ชาวอเมริกันทุกระดับชั้นพากันตกงานแบบไม่ทันตั้งตัวประมาณ 30 ล้านคน จากการล็อคดาวน์กิจกรรมต่างๆเพื่อหวังสกัดยับยั้งการแพร่ระบาด ซึ่งแม้ว่าวันนี้จะเริ่มปลดล็อคให้เริ่มกลับมาเปิดร้านทำการค้าได้แล้วแต่ใช่ว่าจะเหมือนเดิม

         คนทั้งโลกมองเห็นความล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐฯในการรับมือการแพร่ระบาดCOVID-19 เพราะผู้นำประเทศคุยโม้โอ้อวดล่วงหน้าไว้เป็นเดือน แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้วาทะกรรมโยนความรับผิดชอบให้แก่ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่อยู่คนละซีกโลกด้วยการโหมประโคมคำว่า “ไวรัสจีน”ใส่หูชาวอเมริกันอย่างต่อเนื่อง 

          อเมริกันชนที่รู้ทันโลกย่อมเข้าใจว่าเท็จ-จริงเป็นอย่างไร แต่ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ไม่ติดตามข่าวสารโลกก็พร้อมที่จะเชื่อผู้นำ นี่เท่ากับเติมเชื้อไฟ ปลูกฝังความเกลียดชังต่อชาวเอเชียมากยิ่งขึ้น            

          วงการแพทย์อเมริกาแสดงความกังวลว่า การสั่งปลดล็อคดาวน์ทั้งๆ ที่การระบาดยังควบคุมไม่ได้ หากมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเป็นการระบาดระลอก 2 ที่จะรุนแรงกว่าระลอก 1 อาจส่งผลต่อจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นทวีคูณ เมื่อนั้นสหรัฐอเมริกากลายเป็น “รัฐล้มเหลว”อย่างแท้จริง เศรษฐกิจจะยิ่งพัง คนจะยิ่งตกงาน แล้วภาพการต่อแถวยาวเป็นกิโลฯเพื่อรอรับอาหารจะกลับมาอีกครั้ง

          วันนี้ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาที่กำลังใช้ COVID-19 เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อหา “แพะ” มารับผิดชอบแทนความล้มเหลวของตนเอง โดยไม่สนว่าจะไปสร้างกระแสการเหยียดเชื้อชาติ ชังพวกผิวเหลืองตาตี่ และผลกระทบจะตามมาขนาดไหน

          ที่ประเทศเยอรมนีเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา สื่อใหญ่อย่างหนังสือพิมพ์ Bild ได้ลง “บทบรรณาธิการ” เรียกร้องให้จีนรับผิดชอบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งตีมูลค่าความเสียหายไว้ประมาณ 149,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาท  โดยกล่าวหาว่าจีนปกปิดข้อเท็จจริง ไม่บอกความจริงกับโลกแต่เนิ่นๆ ว่า COVID-19 มีอัตราการติดเชื้อสูง

          บทบรรณาธิการของ Bild สะท้อนว่าความเกลียดชังมีอิทธิพลเหนือมาตรฐานและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ที่ไม่ควรเอาความรู้สึกส่วนตัวที่อาจจะไม่ชอบจีนเพราะมีความต่างทางด้านวัฒนธรรมหรือระบบการปกครอง มาสรุปโดยยังไม่มีข้อเท็จจริงว่าจีนต้องรับผิดชอบต่อการแพร่ระบาด COVID-19

            อิทธิพลสื่อคือการชี้นำ ปลูกฝังความคิดต่อผู้บริโภคข่าว ย่อมมีผลให้ชาวเยอรมันจำนวนไม่น้อยคล้อยตาม สร้างความเกลียดชังต่อประเทศจีนและชาวจีน ซึ่งเหมารวมถึงคนเอเชียด้วย

           แม้ต่อมารัฐบาลเยอรมนีจะปฏิเสธว่าไม่มีนโยบายเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว แต่หญิงเหล็ก-นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็เรียกร้องให้จีนแสดงความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดในช่วงแรกๆ ก่อนจะกระจายไปทั่วโลก  โดยแองเกลากล่าวในทำนองว่า  ยิ่งจีนมีความโปร่งใสเรื่องไวรัสเท่าไร  โลกก็ยิ่งได้ความรู้มากเท่านั้น

          นางแมร์เคิล รู้ดีว่ารัฐบาลเยอรมนีไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายจากจีนเพราะเยอรมนีแสดงท่าทีมั่นอกมั่นใจตนเองมาตั้งแต่ต้นว่ามีความพร้อมทางการแพทย์ในการรับมือกับโรคระบาด กระทั่งมาตื่นตระหนกเมื่อการติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก

          ขณะนี้เยอรมนีมียอดผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับ 8 ของโลกประมาณ 180,000 คน ยอดเสียชีวิตสะสม 8,300 คน รักษาหายแล้วมากกว่า 157,000 คน

          ฝรั่งอีกประเทศที่ร่วมปลุกกระแสชังเอเชียคือออสเตรเลีย แม้ออสซี่จะมียอดผู้ติดเชื้อเพียงระดับ 7,000 คน ส่วนใหญ่รักษาหายแล้ว มียอดผู้เสียชีวิตแค่ 100 คน แต่นักการเมืองออสเตรเลียมุ่งเป้าโจมตีจีนอย่างไม่เกรงใจความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่มีต่อกัน

           ในเกมการเมืองระหว่างประเทศ รัฐบาลแคนเบอร์ร่าใกล้ชิดกับวอชิงตัน สมรู้ร่วมคิดกันมาหลายงานโดยเฉพาะการร่วมสกัดกั้นบทบาทของจีนในแปซิฟิก ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการร่วมแบนเทคโนโลยี “หัวเว่ย” ทันทีทันใดที่อเมริกาออกโรง

          ดังนั้นหลังจากที่ สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย วางสายโทรศัพท์กับประธานาธิบดีทรัมป์จากการสนทนาเรื่อง COVID-19 สกอตต์ได้ประกาศเรียกร้องเชิญชวนให้นานาชาติมาร่วมสอบสวนจีนเรื่องการปกปิดต้นตอไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่อเมริกาจุดประเด็นว่าหลุดออกมาจากแล็บที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน

          แต่ทั้งอเมริกาและออสเตรเลีย คงลืมไปว่าเวทีโลกวันนี้ต่างจากวันก่อนที่ไม่สามารถชี้นิ้วหรือกดรีโมทควบคุมได้ง่ายๆ  ยิ่งในเรื่องโรคระบาดที่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์  จึงไม่ควรเอาการเมืองมากำหนด

          ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 73 เมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทรัมป์ขู่องค์การอนามัยโลกว่าจะตัดงบสนับสนุนอย่างถาวร  และอเมริกาอาจจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิก 

           แต่สมัชชาอนามัยโลกได้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้อยู่ใต้อาณัติมหาอำนาจที่จะเอาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมาเล่นในเวทีสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและความเป็นความตายของมนุษยชาติ โดยมีมติให้ไต่สวนเรื่องไวรัสCOVID-19 ฉบับที่เสนอโดย “สหภาพยุโรป”ที่เน้นความร่วมมือทางการแพทย์เป็นสำคัญ

         สหภาพยุโรปยังตอกหน้าทรัมป์ด้วยว่า “นี่เป็นเวลาของความสมัครสมานสามัคคี ไม่ใช่เวลามาชี้นิ้วโทษใคร  หรือทำลายความร่วมมือระดับพหุภาคี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...