ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กล้วยไม้ส่งออกเจอทางตัน หันหัวเรือบุกตลาดในประเทศ
18 มิ.ย. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้แปลงใหญ่คุณภาพดี จำหน่ายผ่านช่องทางตลาดใหม่ใช้ Social Media เปิดรับ Pre-order พร้อมส่งเสริมการจำหน่ายตลาดในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำชะงักการส่งออก

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทำรายได้ต่อปีมากกว่า 2,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกในลักษณะกล้วยไม้ตัดดอก แหล่งผลิตสำคัญอยู่ในจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี และกรุงเทพฯ โดยเป็นกล้วยไม้สกุลหวาย (เดนโดรเบียม) กว่าร้อยละ 80 รองลงมา คือ สกุลมอคคารา ร้อยละ 15 และสกุลอื่นๆ ร้อยละ 5 ได้แก่ แวนดา ออนซีเดียม ตามลำดับ ผลผลิตที่มีคุณภาพ เช่น ไม่มีตำหนิจากโรคแมลง ก้านช่อยาวไม่น้อยกว่า 35 ซม. ดอกในช่อบานไม่น้อยกว่า 4 ดอก ส่วนใหญ่ส่งออกต่างประเทศ ส่วนผลผลิตที่เหลือและคุณภาพไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือที่เรียกว่า “ไม้ตลาด” จะถูกจำหน่ายภายในประเทศ โดยผู้รวบรวมและพ่อค้าในท้องถิ่นรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าส่งที่ตลาดค้าส่ง เช่น ปากคลองตลาด ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง รวมทั้งตลาดต่างจังหวัด

​                นายเข้มแข็ง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปี 2562 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 21,521 ไร่ ผลผลิต 48,794 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,654 ล้านบาท หรือร้อยละ 47 ของผลผลิตทั้งประเทศ แบ่งเป็น กล้วยไม้ตัดดอก 2,165 ล้านบาท และกล้วยไม้ต้น 489 ล้านบาท

สำหรับประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีมูลค่านำเข้ากล้วยไม้จากไทย เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม ยุโรป 28 ประเทศ และจีน เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

อย่างไรก็ตาม กล้วยไม้เป็นพืชหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หลายประเทศมีมาตรการ Lock down ลด/งดเที่ยวบิน รวมทั้งการขนส่งทางรถ ส่งผลให้การส่งออกกล้วยไม้ของไทยช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2563 มีปริมาณลดลงร้อยละ 40.14 และมูลค่าลดลงร้อยละ 31.67 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 จึงทำให้มีผลผลิตส่วนเกินเหลือจากที่ตลาดรองรับได้จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ตัดดอกซึ่งมีผลผลิตออกทั้งปี ไม่สามารถเก็บผลผลิตรอตลาดได้เหมือนกับสินค้าบางประเภท ดังนั้น เกษตรกรต้องตัดทิ้ง เหลือไว้แต่เฉพาะต้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มีแนวทางส่งเสริมตลาดกล้วยไม้ภายในประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ที่สำคัญได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้แปลงใหญ่กระจายผลผลิตกล้วยไม้คุณภาพดีสู่ผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางตลาดใหม่ เพิ่มจากเดิมที่เกษตรกรจำหน่ายกล้วยไม้ให้แก่ผู้ส่งออกและผู้รวบรวมที่มารับซื้อที่สวน เช่น การจำหน่าย Online ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย 24 Shopping การจัดทำเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าของเกษตรกร การรณรงค์ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานสนับสนุนสินค้าไทย ภายใต้แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรกรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด”

ทั้งนี้ การจัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้ากล้วยไม้ของเกษตรกร ณ บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ตลาดเกษตรกรและสถานที่ต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ชี้เป้าแหล่งผลิตกล้วยไม้ตัดดอกและกล้วยไม้ต้นของเกษตรกรแปลงใหญ่ สมาคม ชมรมกล้วยไม้ รวมทั้งการจำหน่ายในรูปแบบ Pre-Order ผ่านทาง Social Media

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คนไทยใช้กล้วยไม้ไทยจัดกิจกรรม และเผยแพร่การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดแจกัน การจัดช่อบูเก้ ร้อยพวงมาลัย ประดับตกแต่งสถานที่ เป็นต้น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วยไม้ รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ทั่วไป ปัจจุบันมีแปลงใหญ่กล้วยไม้รวมทั้งสิ้น จำนวน 11 แปลง จาก 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม 6 แปลง สมุทรสาคร 3 แปลง นนทบุรี 1 แปลง และกรุงเทพมหานคร 1 แปลง

“ผลการดำเนินงานนำร่องจำหน่ายสินค้ากล้วยไม้ในรูปแบบ Pre-order ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี มีลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบุคลากรหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และผู้สนใจภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งพ่อค้าคนกลางมารับสินค้าไปจำหน่ายต่อ เกษตรกรแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมดำเนินการมีความพึงพอใจในรายได้และการจำหน่ายในลักษณะนี้ เนื่องจากจำหน่ายผลผลิตได้ราคาดีกว่าจำหน่ายที่สวน เช่น ขายที่สวนราคาช่อละ 30 – 70 สตางค์ ขณะที่จำหน่ายตรงให้ผู้บริโภค ช่อละ 2 – 2.50 บาท ซึ่งการรวมคำสั่งซื้อล่วงหน้าของลูกค้าและให้เกษตรกรนำสินค้าทั้งหมดมาส่งยังจุดกระจายสินค้าเพียงจุดเดียว ช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าขนส่งของเกษตรกร มีจำนวนสินค้าและรายได้จากการจำหน่ายแน่นอน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

นายเข้มแข็ง กล่าวว่าระยะต่อไปกรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่นำร่องดังกล่าว ดำเนินการด้วยตัวเองทุกขั้นตอน เริ่มจากการตั้งช่องทางการจำหน่ายของกลุ่ม เช่น Line Official, Facebook จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สินค้า การรวบรวมและสรุปยอดสั่งซื้อในแต่ละรอบ การจัดเตรียม/ส่งสินค้าให้ลูกค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร รวมทั้งขยายผลการดำเนินงานไปสู่แปลงใหญ่อื่น ๆ ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอด ทั้งนี้ การส่งเสริมตลาดกล้วยไม้ภายในประเทศ จะช่วยเพิ่มทางเลือกและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออกที่เป็นตลาดหลัก ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...