ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
ติดดาบม.44เชือดนายทุนฮุบที่สปก.ยึดแจกเกษตรกร
26 ก.ค. 2559

          ในที่สุดก็ประกาศออกมาแล้ว สำหรับราชกิจจานุเบกษากับคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กับการใช้ ม.44 เข้าไปแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)โดยมิชอบกฎหมาย ซึ่งว่ากันว่านำออกมาใช้กับกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพลโดยเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาในรัฐบาลปกติไม่สามารถจัดการให้เด็ดขาดเบ็ดเสร็จได้ ส่วนเนื้อหากฎหมายที่ออกมาจะเป็นอย่างไรบ้างลองไปดูแก่นสาระที่สำคัญ

          คณะรัฐมนตรีเคยมีมติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ส่งมอบพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมให้เกษตรกรว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันยังมีแปลงที่ดินไม่ได้รังวัดอีกมาก เนื่องจากมีผู้ถือครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้ความร่วมมือ ยอมเข้ากระบวนการปฏิรูปที่ดิน บางรายมีคําพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่ปฏิบัติตาม มีบุคคลไม่มีสิทธิครอบครองเข้าใช้ประโยชน์ โดยอ้างสิทธิซื้อต่อจากเกษตรกร หรือเปลี่ยนมือเป็นแปลงขนาดใหญ่ นําไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ บางกรณีพื้นที่ข้างเคียงยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ หากใช้ประโยชน์ไม่เหมาะสมอาจมีปัญหาบุกรุกพื้นที่

          ดังนั้นจึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคําสั่ง ข้อ 1ในคําสั่งนี้ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ (1) ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไป (2) ที่ดินที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินสิ้นสิทธิเข้าทําประโยชน์แล้วและครอบครองโดยบุคคลที่มิใช่ผู้ได้รับการจัดที่ดินมีเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ ขึ้นไป (3) ที่ดินที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วและมีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไป

          กําหนดพื้นที่เป้าหมายตาม (1) และ(2) เป็นไปตามที่สํานักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกําหนด ข้อ 2 เมื่อประกาศกําหนดพื้นที่เป้าหมายตามข้อ 1 (1) ให้สํานักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดปิดประกาศพื้นที่เป้าหมายในที่เปิดเผย ณ ที่ว่าการอําเภอ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน และที่ทําการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ข้อ 3ให้ผู้ครอบครองที่ดินยื่นคําร้องเพื่อแสดงสิทธิ ต่อสํานักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภายในสิบห้าวัน นับแต่วันประกาศ และให้สํานักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตรวจหลักฐานของผู้ครอบครองให้เสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องตาม หลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) โฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ตราว่า “ได้ทําประโยชน์แล้ว” (2) หนังสือรับรองการทําประโยชน์ในที่ดิน (น.ส.3 น.ส.3 ก. น.ส.3 ข. หรือแบบหมายเลข 3)

          (3) หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) (4) ใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน (ส.ค. 2) (5) ใบจอง (6) ใบเหยียบย่ำ (7) หนังสือแสดงการทําประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (น.ค. 3 กสน. 3 หรือ กสน. 5) (8) หนังสือแสดงสิทธิอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อ 4 หากผู้ครอบครองที่ดินไม่มายื่นคําร้องแสดงสิทธิในที่ดิน หรือสํานักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบกับคําร้อง หรือไม่ปรากฏว่ามีผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการสํานักงานการปฏิรูปที่ดินฯแต่งตั้งมีอํานาจ ดังต่อไปนี้

          (1)สั่งให้ผู้ครอบครองที่ดินออกจากพื้นที่เป้าหมายภายในเวลาที่กําหนดและงดเว้นกระทําการใดๆในบริเวณพื้นที่ (2) สั่งให้ผู้ครอบครองที่ดินรื้อถอน ทําลาย หรือกระทําการอื่นใด แก่สิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งอื่นใดในพื้นที่เป้าหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคําสั่ง (3) เข้าไปทําการอันจําเป็นเพื่อการสํารวจและรังวัดพื้นที่ หรือตรวจสอบการครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินในเคหสถานหรือสถานที่ใดๆในบริเวณพื้นที่ (4) ออกคําสั่งเรียกบุคคลรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย

          (5) ยึด รื้อถอน ทําลาย หรือกระทําการอื่นใด กับสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในกรณีที่ผู้ครอบครองที่ดินไม่ปฏิบัติตาม (2) หรือไม่ปรากฏว่ามีผู้ครอบครองที่ดินในพื้นที่เป้าหมาย ข้อ 5 พื้นที่เป้าหมายตามข้อ 1 (2) ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่งตั้งมีอํานาจดําเนินการตามข้อ 4 เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้สิ้นสิทธิเข้าทําประโยชน์ ข้อ 6 พื้นที่เป้าหมายตามข้อ 1 (3)ให้เจ้าหน้าที่ฯนําเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าดําเนินการตามฎหมายความแพ่ง และให้เจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอํานาจตามข้อ 4

          ข้อ 7 ให้กองทัพภาค กองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองกําลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก หรือกองบัญชาการตํารวจภูธรภาค มอบหมายเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน เข้าร่วมปฏิบัติการ ตามที่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมร้องขอ ข้อ 8 ให้บรรดาสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เป้าหมายที่ไม่เป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อใช้ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ข้อ 9 เมื่อได้ครอบครองพื้นที่เป้าหมายแล้ว ให้สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนําที่ดินมาจัดให้แก่เกษตรกร ดังต่อไปนี้

          (1) เกษตรกรตามนโยบายจัดที่ดินทํากินให้ชุมชนของรัฐบาล (2) เกษตรกรที่ถือครองที่ดินเดิมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2535ให้รวมถึงบุคคลในครอบครัว หรือผู้สืบสันดานของผู้ถือครองที่ดินเดิมที่ได้ร่วมทําประโยชน์ในที่ดินนั้น การจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรตาม (2) ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดที่ดินทํากินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล ข้อ 10 ให้ผู้ครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายชดใช้หรือออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ 4 (5)

          ข้อ 11 เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ทําตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินแก่เหตุย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางราชการความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ข้อ 12 การปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งให้เจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...