ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
รถไฟฟ้าสีเขียวส่อแววยืดเยื้อ กทม.ขูดค่าตัดไม้ร้อยกว่าต้น 10 ล.
05 พ.ย. 2558

     ว่ากันด้วยเรื่องของมหากาพย์รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ดูเหมือนว่าคนเมืองกรุงยังต้องเผชิญกับรถติดจากการก่อสร้างสาธารณูปโภคโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสารพัดสีกันไปอีกนาน ซึ่งว่ากันตามจริง ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่น่าจะลงมือทำกันไปแล้วเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

     ถ้าจำไม่ผิดเมื่อราว 30 ปีแล้ว ท่านสมัคร สุนทรเวช ผู้ล่วงลับ ในฐานะ รมว.คมนาคม ณ ขณะนั้น เป็นคนชงเรื่อง แต่ถูกสังคม รวมถึงสื่อหลัก ฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการ รวมตัวกันค้านหัวชนฝา จนในที่สุดก็เพิ่งก่อร่างตั้งไข่มาได้เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา

     เรื่องนี้สะท้อนไปถึงรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ที่เคยเสนอในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แล้วกลับถูกตอกกลับถูกแหนบแนมต่างๆ นาๆ ว่าเป็นรถขนผักบ้าง ว่าทำให้ถนนไทยปลอดลูกรังก่อนบ้าง สารพัดสารเพจะว่ากันไป แต่สุดท้ายแล้ว เชื่อเหลือเกินว่า สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดแน่ๆ โดยเฉพาะกับสิ่งที่เห็น ณ ขณะนี้ ที่รัฐบาลฝ่ายเดียว (เพราะไม่มีฝ่ายค้าน) กำลังลงมือทำเมกะโปรเจค ซึ่งไม่มีใครกล้าแตะ หรือแม้จะล้วงแคะแกะเกา

     ลองคิดง่ายๆ หากกรุงเทพฯ ลงมือสร้างรถไฟฟ้าตั้งแต่คราที่ท่านสมัครเสนอมา เมืองกรุงคงไม่รถติดโกลาหลเหมือนขณะนี้ เนื่องด้วยสมัยนั้น การก่อสร้างน่าจะสะดวกกว่าเพราะรถยังไม่ใคร่ติดนัก ที่สำคัญในแง่จิตใจ เมื่อคนที่มีรถไฟฟ้าผ่านแถวบ้าน คงไม่ใคร่มีใครซื้อรถขับไปทำงานนัก อีกประการคือ เรื่องของราคา ที่เมื่อเริ่มต้นไม่น่าจะแพงนัก เพราะรัฐเข้าไปถือหุ้นด้วย ต่างจากสมัยนี้ที่ค่าโดยสารแพงมาก นี่ถ้าสร้างครบทุกสาย ชาวบ้านตาดำๆ คงต้องถือเงินหลายร้อยในการเดินทาง แล้วสุดท้ายจะต่างอะไรกับการที่เขาขับรถไปเอง

     อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า นี่คือมหากาพย์รถไฟฟ้า แม้ทุกอย่างจะมีการตกลงกันทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่วายต้องมีเรื่องยุ่งยากหยุมหยิมเข้ามาอีกจนได้ ล่าสุดก็เกิดปัญหาในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แม้จะมีการรื้อสะพานเกษตร อันสร้างความยุ่งเหยิงทางการจราจรอย่างมหาศาล เพราะเป็นพื้นที่หลักในการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ทางสำนักงานเขตบางเขน ก็ได้แจ้งมาทาง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย"  หรือ รฟม.ถึงการรื้อย้ายต้นไม้ที่ กทม.ปลูกราวร้อยกว่าต้น ต้องมีค่าบริหารจัดการอีก 10 ล้านบาท

     โดยในเรื่องนี้ “วิสุทธิ์ ธรรมวิริยะวงศ์” ผู้อำนวยการเขตบางเขน อธิบายว่า ตั้งแต่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตนั้น ทางเขตได้มีการติดตามสถานการณ์การก่อสร้างการรื้อสะพานเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการก่อสร้างนั้น ต้องมีการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา รวมถึงต้นไม้ในพื้นที่เขต ซึ่งเป็นสมบัติของกรุงเทพมหานครทั้ง 2 ฝั่งถนน ที่เป็นจุดขึ้น-ลงสถานีร่วม ทั้งต้นไม้ที่อยู่บริเวณเกาะกลางถนน โดยลักษณะต้นไม้ที่อยู่ริม 2 ฝั่งนั้น จะเป็นไม้ยืนต้นต้นใหญ่ ส่วนบริเวณเกาะกลางจะเป็นไม้ชนิดกลาง-เล็ก โดยมีต้นไม้ที่ต้องถูกรื้อย้ายประมาณ 100 กว่าต้น การรื้อย้ายต้นไม้นั้นก็อยู่ในส่วนหนึ่งในการรื้อสาธารณูปโภคเช่นกัน

     ทั้งนี้ การรื้อย้ายต้นไม้นั้น เฉพาะในเขตบางเขน คิดมูลค่าทั้งหมด 10 ล้านบาท โดยทางเขตได้มีการแจ้งจำนวนเงินให้แก่ รฟม. แล้ว ทาง รฟม.ก็จะต้องไปแจ้งให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโครงการ แต่อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของสาธารณชน เขตก็สามารถยกเว้นได้ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสียก่อน โดยสำหรับต้นไม้ที่มีการล้อมแล้ว จะนำไปให้สำนักสวนสาธารณะดูแลต่อไป

     ราคา 10 ล้านบาท กับไม้ยืนต้นร้อยกว่าต้น แม้จะมองแบบโลกสวยหรือโลกสีเขียวแล้วก็ต้องถือว่า ค่อนข้างสูงกับต้นไม้ที่ต้องรื้อแล้วมิได้เป็นกรรมสิทธิของผู้รื้อ เฉลี่ยแล้วต้นละเกือบแสน ซึ่ง รฟม.จะรับข้อเสนอหรือจะขอยกเว้น อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ รฟม.

     แต่เมื่อมาดูในอีกมุมมองเปรียบเทียบกับที่ทางกรุงเทพมหานครคิดค่าบริการในการตัดต้นไม้ในพื้นที่ ตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยอัตราค่าบริการและหลักเกณฑ์ วิธี และเงื่อนไขในการขอยกเว้นหรือลดหย่อนค่าบริการ พ.ศ.2544 ซึ่งเขาจะคิดตามขนาดรอบโคนต้นในอัตราดังต่อไปนี้คือ ขนาดรอบโคนต้นไม่เกิน 100 ซม. ต้นละ 200 บาท ขนาดรอบโคนต้น 101-105 ซม. ต้นละ 500 บาท ขนาดรอบโคนต้น 151-200 ซม. ต้นละ 800 บาท ขนาดรอบโคนต้น 201-250 ซม. ต้นละ 1,000 บาท ขนาดรอบโคนต้น 251-300 ซม. ต้นละ 1,400 บาท และขนาดรอบโคนต้น 301 ซม.ขึ้นไป ต้นละ 1,700 บาท นี่คืออัตราที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง หากมีสิ่งกีดขวางจะเพิ่มค่าบริการอีกเท่าตัว นี่ยังไม่รวมถึงค่าขนส่ง และค่าบริการต้นไม้ที่ขุดแล้วก็มีอีกราคานะ

     เห็นราคาค่าบริการแบบนี้แล้ว รฟม.จะเสีย 10 ล้านทำไม ก็ให้ กทม.ตัดก็หมดเรื่อง เหลืองบอีกเพียบ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...