ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
กม.ท้องถิ่น9ปีที่รอคอยคนมองเป็นคุณหรือโทษ(รายงานพิเศษ)
06 ส.ค. 2559

          สำหรับกฎหมายแล้วไม่ว่าจะใช้กับใคร องค์กรไหน เรื่องอะไร ย่อมมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะกฎหมายส่วนท้องถิ่น ที่คนทำงานท้องถิ่นถือเป็นคัมภีร์ในการบริหารจัดการบุคลากร ในวันนี้มีทัศนะว่าด้วยกฏหมายฉบับนี้จากคนวงใน โดยทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย จะมาเปิดมุมมองข้อคิดเห็นถึงสาระด้วยเนื้อหาบางประการที่สำคัญมานำเสนอ ซึ่งกฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... ฉบับที่กำลังจะออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีเห็นชอบ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงฝ่ายท้องถิ่น มีทักท้วง คัดค้านในหลายๆประเด็นโดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่าร่างฉบับนี้ยังมิได้นำความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาพิจารณาให้รอบด้าน
          วันนี้ขอมองต่างมุมในส่วนที่เห็นว่าดี หรือเป็นคุณแก่ฝ่ายประจำท้องถิ่น ด้วยอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บุคลากรฝ่ายประจำท้องถิ่นที่เป็นข้าราชการเกือบ 2 แสนคนรวมลูกจ้างพนักงานจ้างทั่วประเทศกว่า 4 แสนคน ต่างติดตามหาร่าง พรบ. ฉบับนี้รวม 156 มาตรา มาศึกษาและเมื่อศึกษาร่างเบื้องต้นแล้วในฐานะข้าราชการส่วนท้องถิ่นดีใจในความพยายามเรียกร้องของข้าราชการ กระทั่งได้ปรากฏออกมาบัญญัติอยู่ในร่าง พรบ.ฉบับนี้ ซึ่งกว่าจะสำเร็จถึงวันนี้ยาวนานกว่า 9 ปี เริ่มตั้งแต่มี พระราชบัญญัติบริหารงานบุคคลท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา 
          ปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นล้มลุกคลุกคลานมาตลอด กระทั่งร่างพระราชบัญญัติบริหารงานบุคคลท้องถิ่นฉบับใหม่ ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่การตรากฎหมายไม่คืบหน้า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบริหารงานบุคคลท้องถิ่นได้ตั้งแต่ปี2550 ล่วงมาถึงปัจจุบัน 9 ปี กระทั่งคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย (คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) เห็นชอบให้สปท.นำข้อสังเกต ข้อเสนอแนะไปพิจารณา ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างบางประเด็นหลัก ระบบคุณธรรมที่อาจถือเป็นความหวังใหม่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือบุคคลการท้องถิ่น
          (1) คณะกรรมการบริหารงานบุคคลเพียงคณะเดียวหรือที่เรียกว่า ก. เดียว ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เรียกร้องมาช้านาน คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เรียกย่อว่า ก.ถ. (มาตรา 17) ในระดับจังหวัด ก็มีอนุกรรมการของ ก.ถ. เรียกว่า คณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน และเป็นองค์กรเดียวในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดคุณสมบัติ ผู้ทรงคุณวุฒิ ใน ก.ถ. และ อ.ก.ถ.จังหวัดไว้อย่างมีมาตรฐาน
          (2) อำนาจคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการสรรหาข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบคุณธรรมท้องถิ่น ตามมาตรา 24  กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เช่น ในการสรรหาข้าราชการส่วนท้องถิ่น การสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น สอบคัดเลือก การสอบคัดเลือกเปลี่ยนสายงานต่างๆ การสอบคัดเลือกข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น และประเภทบริหารท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงขึ้น และ การสรรหาบุคคลมาบรรจุเข้ารับราชการต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม (มาตรา 43)
          ปัญหาการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นเดิมไม่มีมาตรฐานในการสรรหา การจัดสอบไม่ว่าจะเป็นการสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก หรือการคัดเลือกของท้องถิ่น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มีการทุจริตในการสอบ เรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนในการสอบ โดยเฉพาะการสอบแข่งขันและการสอบคัดเลือกหรือการคัดเลือกตำแหน่งสายบริหารท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ ปัญหาความไม่มีมาตรฐานหรือการทุจริตดังกล่าวคงจะหมดไป เกิดความมั่นใจแก่บุคคลากรท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่ง
          (3) การแบ่งแยกอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเฉพาะของผู้บริหารท้องถิ่น (นายก อปท.) หรืออำนาจร่วมของผู้บริหารท้องถิ่นและปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 51) นายก อปท. มีอำนาจบังคับบัญชาปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนผู้อำนวยการ ข้าราชการระดับอื่นต้องเป็นไปตามที่ปลัด อปท.เสนอ ที่ผ่านมาอำนาจบริหารบุคคลท้องถิ่นอยู่ที่นายก อปท.เพียงผู้เดียว มีอำนาจล้วงลูกข้าราชการประจำ การตราบัญญัติไว้จึงเป็นเรื่องที่ดีต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการประจำ ด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจมากยิ่งขึ้น ด้วยมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุล
          (4) หลักประกันความยุติธรรมโดยคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ถ.) ที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เมื่อข้าราชการไม่ได้รับความเป็นธรรม การอุทธรณ์ร้องทุกข์ต่อกรรมการ ก็คือก. จังหวัด ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่มีมติลงโทษ ทำให้การอุทธรณ์ไม่เป็นผล เพราะกรรมการชุดเดิมคงยืนยันตามมติเดิม พรบ.ฉบับนี้แต่งตั้ง ก.พ.ถ. จากบุคคลหลายฝ่าย กำหนดคุณสมบัติและมาตรฐานไว้ค่อนข้างสูง สรรหาด้วยกระบวนการที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นกว่าระบบเดิม
           จะเห็นได้ว่าหลักการหลายประการตามที่ยกตัวอย่าง ได้ถูกบัญญัติไว้ในร่าง พรบ. ฉบับนี้ ซึ่งล้วนแต่เป็นหลักการใหม่ที่ดี เป็นสิ่งที่ฝ่ายประจำท้องถิ่นขาดหาย และเรียกร้องมานาน อันเป็นปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานบริหารงานท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ ในอดีตที่ผ่านมาปัญหาดังกล่าวนำไปสู่ ระบบอุปถัมภ์ มีการเล่นพรรคเล่นพวกและทุจริตอย่างกว้างขวาง อาทิ การซื้อขายบรรจุ เลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง รวมทั้งการโอนย้าย ทั้งแบบสมยอม เรียกรับผลประโยชน์ หรือการสมยอมกันด้วยความสมัครใจเต็มใจทั้งสองฝ่าย
          อย่างไรก็ตามยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ร่างพรบ. ฉบับนี้ อาจทำให้คนท้องถิ่น ผู้ปฏิบัติงานมีความวิตกกังวลในความเติบโตก้าวหน้า รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่น เพราะในยังมีประเด็นปัญหาอีกหลายประเด็นที่อาจมีปัญหาอุปสรรคมีผลโดยตรง ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อไป โดยเฉพาะสิ่งที่ฝ่ายประจำท้องถิ่น คิดว่าอาจทำให้ท้องถิ่น ก้าวเดินต่อไปไม่ได้ และแม้จะก้าวเดินได้ก็อาจมีปัญหาในอนาคต

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...