ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เป็นปลื้ม ราคายางขยับสูงสุดในรอบ 3 ปี ตลาดโลก/แผนใช้ยางในประเทศช่วยหนุน
17 ก.ย. 2563

“เฉลิมชัย”ปลื้ม ราคายางทะลุ 60 บาท/กก. สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี สั่ง กยท.ติดตามอุปสงค์-อุปทาน รวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับราคาอย่างใกล้ชิด เร่งเดินหน้าทำธุรกิจแปรรูปยาง เพิ่มมูลค่า ดึงราคาให้สูงขึ้นอีก

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ราคายางพาราสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปิดตลาด 60.50 บาทต่อกิโลกรัม สูงสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน และเป็นราคาที่น่าพอใจ และได้สั่งการให้ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ติดตามปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับราคายางอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศ ราคาน้ำมันดิบ การซื้อขายในตลาดล่วงหน้า เป็นต้น เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไว้ให้ได้ อีกทั้งต้องดำเนินมาตรการผลักดันราคาให้สูงขึ้นอีก เช่น การส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ การหาตลาดส่งออกเพิ่ม

นอกจากนี้ กยท.ต้องดำเนินธุรกิจแปรรูปและซื้อขายยาง ซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมาย หรือจะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนก็สามารถทำได้ รวมทั้งเร่งดำเนินการโครงการรับเบอร์ วัลเลย์ ศูนย์อุตสาหกรรมยางที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ไทยสามารถกำหนดราคาซื้อขายเองได้เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกยางมากเป็นอันดับ 1 ของโลก

สำหรับราคาที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลให้รัฐจ่ายเงินส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางลดลง โดยโครงการประกันรายได้ยาง ระยะที่ 2 จะเริ่มประมาณเดือนตุลาคม การจ่ายส่วนต่างของยางแผ่นดิบ น้ำยางสด และยางก้อนถ้วยจะหักจากราคาประกันรายได้ที่กำหนดไว้ โดย กยท.จะคำนวณราคาเฉลี่ยของยางประเภทต่างๆ หากคำนวณจากราคาที่ปรับสูงขึ้นวันนี้จะประหยัดงบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เมื่อราคาสูงเกินราคาประกันรายได้ รัฐจะไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างอีกต่อไป

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ราคายางปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 60 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ครั้งแรกในรอบ 3 ปี 2 เดือน โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราคา 60.50 บาทต่อ ก.ก. ราคายางมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนสั่งซื้อปริมาณมาก หลังเริ่มฟื้นฟูประเทศทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น และผู้บริโภคในจีนยังมีพฤติกรรมการหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนรถโดยสารสาธารณะ เป็นผลให้ล้อยางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ล่าสุดยอดการใช้ยางพาราในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้ว

“ขณะนี้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาดโลกและประเทศจีน อาจมีผลทำให้โครงการประกันรายได้ยางพาราระยะที่ 2 วงเงินประมาณ 3.3 หมื่นล้าน ที่ตั้งงบไว้แล้วนั้น น่าจะนำมาใช้จริงน้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าคงยังต้องมีโครงการ เพราะที่ผ่านมาราคายางตกต่ำ”

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกิดจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรเป็นวัสดุในการปรับปรุง ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศและสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน

รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) แจ้งว่า สถานการณ์ยางพารา ปี 2563 เนื้อที่กรีดได้ รวมทั้งประเทศ 20.579 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 123,402 ไร่ หรือ 0.60%ผลผลิต รวมทั้งประเทศ 4.908 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 68,232 ตัน หรือ 1.41% ผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้ ทั้งประเทศ 239 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2 กก.ต่อไร่ หรือ 0.84%

สถานการณ์การผลิตเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2557 ซึ่งเกษตรกรปลูกแทนพืชไร่ พื้นที่นา พื้นที่ว่างเปล่า และปลูกแทนต้นยางพาราที่อายุมากให้ผลผลิตน้อย เริ่มกรีดได้ในปีนี้ สำหรับผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอต้นยางสมบูรณ์ดี

ทั้งนี้ การปลูกยางพารากระจายตัวทั่วประเทศโดยภาคเหนือ เนื้อที่กรีดได้ในปี 2563 เพิ่มขึ้นเนื่องจากยางพาราที่ปลูกในปี 2557 ซึ่งเกษตรกรขยายพื้นที่ ปลูกยางพาราในพื้นที่ว่างเปล่าและปลูกแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มกรีดได้ในปีนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ว่างเปล่า ปลูกแทนที่นาดอน มันสำปะหลัง เริ่มกรีดได้ในปีนี้ ภาคกลาง เนื้อที่กรีดได้ในปี 2563 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางอายุมากและให้ผลผลิตน้อย เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันและไม้ผลทดแทน ภาคใต้ เนื้อที่กรีดได้ในปี 2563 ลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางอายุมากและให้ผลผลิตน้อย เพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลทดแทน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...