ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
หมอวรงค์ บุกรัฐสภายื่น1.3แสนชื่อค้านแก้รธน.
23 ก.ย. 2563

นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม นำประชาชน เดินทางมาที่รัฐสภา แยกเกียกกาย เพื่อนำรายชื่อของประชาชนที่คัดค้านการแก้ไขรธน.ปี 2560 จำนวน 1.3 แสนชื่อ ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ผ่านผู้แทนประธานของ 2 สภา โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยย่อยหน้ารัฐสภาด้วย

นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตั้งใจจะรวบรวมรายชื่อประชาชนให้มากกว่านี้ แต่ฝ่ายตรงข้ามโจมตีระบบรวบรวมรายชื่อของกลุ่ม จึงดำเนินการได้เพียง 4 วันเศษ เพราะกลัวว่า ระบบจะล่ม แต่คิดว่าเพียงพอที่จะแสดงเจตนารมณ์ โดย "1 แสน 3 หมื่นรายชื่อ" ของกลุ่ม ไม่ได้ยื่นเสนอหรือคัดค้านกฎหมาย แต่เป็นการแนบรายชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของ 16.8 ล้านเสียง ซึ่งลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า "งานของแผ่นดิน" พร้อมชวนมวลชนแสดงสัญลักษณ์ "OK" ให้สื่อมวลชนบันทึกภาพ

พร้อมเตือนสมาชิกรัฐสภาทุกคนว่า ถ้ายังดื้อดึงเดินหน้าต่อโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน เรื่องนี้จะจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีบรรทัดฐานจากศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้วเมื่อครั้ง สภาฯ มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามตินั้น ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกสถาปนาโดยประชาชน รัฐสภาเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีฐานะต่ำกว่า จึงไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีเพียงอำนาจในการแก้ไขเท่านั้น ดังนั้น "ได้โปรดอย่าเสียเวลา เสียเงินเสียทองของประชาชน เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าเดินหน้าแพ้แน่นอน ประชาชนต้องชนะแน่นอน" 

ภายหลัง นายแพทย์วรงค์ ยื่นรายชื่อ ปชช.คัดค้านแก้ไข รธน.แล้ว ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ว่า กลุ่มไทยภักดี ได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 130,000 รายชื่อ มายื่นต่อรัฐสภา เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการคัดค้านการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีเหตุผล

1. รัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านประชามติมาจากประชาชน 16.8 ล้านเสียง ถือว่าประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งในอดีต ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัย สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผ่านประชามติมาเช่นกันว่า อำนาจของรัฐสภา สามารถทำได้คือแก้ไขรายมาตรา แต่การยกร่างใหม่ด้วยการตั้งส.ส.ร. ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะยอมหรือไม่ ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ผ่านประชามติมาจากประชาชน การที่จะตั้งส.ส.ร. เพื่อร่างฉบับใหม่ จึงต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน

2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่มีประโยชน์ใดๆ ของประชาชน มีแต่ประโยชน์นักการเมืองที่ต้องการแก้ไข เช่นการปราบโกง รวมถึงรูปแบบการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่เผด็จการรัฐสภา รวมทั้งฉวยโอกาสเพื่อทำลายสถาบันเบื้องสูงของชาติ

3. ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ประเทศจะต้องเสียเงินอีก 15,000 ล้านบาท แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง

4. ปัญหาส.ว.ที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงบทเฉพาะกาล ที่เหลือเวลาประมาณ 3 ปีก็จะหมดวาระ และสิ่งนี้ก็คือสิ่งที่ประชาชนลงประชามติ ให้อำนาจไว้ชั่วคราว หลังจากนั้นส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนกลุ่มอาชีพต่างๆ ยากที่พรรคการเมืองจะเข้ามาแทรกแซง

ถ้าหากทางรัฐสภาไม่รับฟังเสียงของประชาชนที่สถาปนารัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ยังดื้อดึงที่จะแก้ไขเพื่อประโยชน์นักการเมือง เรื่องนี้ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และประชาชนจะไม่ยอมแน่นอน

พร้อมกันนี้ ประณาม ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ที่แบ่งแยกคนไทยที่เรียกฝ่ายตรงข้ามว่าอนุรักษนิยม ซ้ำยังดูถูกด้วยการกล่าวหาว่า เป็นฝ่ายทำลายสถาบันเสียเอง ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง และเห็นว่า ปิยบุตร มองข้ามสถาบันสำคัญของชาติ อ้างเพียงตำราและหลักการของต่างประเทศอย่างเดียว จะนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยไม่ได้ รวมถึงการจะตรวจสอบสถาบันนั้นไม่เห็นด้วยเพราะไม่จำเป็น เนื่องจากมีกระบวนการตรวจสอบตามปกติอยู่แล้ว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...