ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กรมชลฯ ชี้น้ำในเขื่อนยังวิกฤติ คนเมืองกาญจน์เริ่มสงครามชิงน้ำ
05 พ.ย. 2558

 

                นับถอยหลังเข้าสู่ฤดูแล้ง น้ำใช้การ 4 เขื่อนหลัก แม้จะได้เกินเป้า แต่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งคงหนีไม่พ้นที่จะต้องร่วมกันประหยัด ล่าสุดกรมชลประทาน (สิ้นเดือนตุลาคม) ได้ประกาศเตือนตอนบนของประเทศสิ้นสุดฤดูฝน หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว พร้อมนับถอยหลังเตรียมเข้าสู่ฤดูแล้งเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

                ทั้งนี้ แม้ 4 เขื่อนหลัก จะได้ปริมาณน้ำใช้การได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็เพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรัง พร้อมเตือนทุกภาคส่วนหากไม่ร่วมมือกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง เสี่ยงขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต
                สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่างๆ เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังสิ้นสุดฤดูฝนในภาคเหนือแล้ว เตรียมนับถอยหลังเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2558/59 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป โดยล่าสุด(27 ต.ค. 58) ทั้ง 4 เขื่อน มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,897 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ขณะที่ก่อนหน้านี้หนึ่งวันมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนรวมกันทั้งสิ้น 21.78 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการใช้น้ำรวมกัน 9.03 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,201 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 524 ล้านลูกบาศก์เมตร)

                แม้ว่าปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันของเขื่อนทั้ง 4 แห่ง จะมีปริมาณน้ำมากกว่าเป้าที่ได้ตั้งไว้ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก สามารถจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ได้
                ดังนั้น เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ และต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม 2559 จึงขอให้เกษตรกรพิจารณางดการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำสูง พร้อมกันนี้ ต้องขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคต

ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุด ก็ได้มีรายงานข่าวจาก จ.กาญจนบุรีว่า กลุ่มชาวนา 3 ตำบล ของ อ.ท่ามะกา ได้แก่  ต.เขาสามสิบหาบ ต.เขาช่อง พังตรุ และ ต.บ้านใหม่ ของ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี จำนวน 100 กว่าคน ได้เดินทางโดยรถยนต์ไปยืนประท้วงที่ประตูระบายน้ำคลองชลประทานสายท่าม่วง-ท่ามะกา หมู่ 8 บ้านเขาช่อง เพื่อประท้วงขอให้ทางเขื่อนแม่กลองทำการปล่อยน้ำ หลังจากนั้น ก็ได้มีการประสานงานไปยัง พ.ต.ณัฐพงษ์ ตะโกใหญ่ ผบ.ทหารปืนใหญ่ที่ 109 ซึ่งก็ได้ประสานไปยังสำนักชลประทานที่ 13 เขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วงฯ จ.กาญจนบุรี โดยให้ส่งตัวแทนชาวนาให้ไปเจรจากันภายในห้องประชุมสำนักโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา ซึ่งตั้งอยู่ภายในสำนักชลประทานที่ 13 เขื่อนแม่กลอง

            โดยมีนายพลาดร เนียมพล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา พร้อมด้วยนายประยูร ใจเย็น หน.ฝ่ายจัดสรรน้ำ สำนักชลประทานที่ 13 และนายธีระ ธรรมศิริ หน.ฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการท่ามะกา นายจำรัส กังน้อย นายอำเภอท่าม่วงฯ ในที่ประชุมแกนนำชาวนาต่างพูดคุยขอร้องให้ทางเขื่อนทำการปล่อยน้ำ เพื่อไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนาปีที่กำลังตั้งท้อง ซึ่งใช้ระยะเวลาอีกเพียงเดือนเดียว ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว หากทางเขื่อนไม่ปล่อยน้ำต้นข้าวที่กำลังเขียวชอุ่มคงต้องเหี่ยวเฉาตายแน่นอน

                โดยมีการเจรจาพูดคุยสอบถามกันใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ผลการเจรจาสามรถตกลงกันได้ โดยนายพลาดร เนียมพล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา พร้อมด้วยนายประยูร ใจเย็น หน.ฝ่ายจัดสรรน้ำโครงการท่ามะกา มีความเห็นตรงกันและรับปากว่าจะทำการจัดสรรปล่อยน้ำในคลองชลประทานสายท่าม่วง-เพชรบุรี

                ทั้งนี้ จะเปิดบานประตูระบายน้ำจากปัจจุบันที่ปล่อยระบายน้ำแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้น้ำไม่ไหลออกตามช่องระบาย เมื่อชาวนาเดือดร้อนก็จะปล่อยจาก 60 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้น้ำในคลองชลประทานเต็มฝั่ง ซึ่งเชื่อว่าชาวนาคงสามารถระบายน้ำเข้าสู่แปลงนาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยจะเปิดบานประตูระบายน้ำสูงกว่าเดิมเป็นเวลา 1 อาทิตย์ เพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อนของชาว นับจากวันที่มีการเจรจาขอน้ำ ทำให้ชาวนาที่มาชุมนุมขอน้ำเข้านาต่างพอใจเดินทางกลับไป

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...