ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
คลังแจงยังไม่มีนโยบายอุ้มแบงก์รัฐสั่งดูแลลูกหนี้ต่อเนื่อง
23 ต.ค. 2563

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า คลังยังไม่มีนโยบายเข้าไปช่วยเหลือ หรือ ชดเชยตามมาตรการรัฐ (พีเอสเอ) ให้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) จากกรณีที่ออกมาตรการพักชำระหนี้ ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ทำให้มีหนี้ส่วนหนึ่งที่มีแนวโน้มเป็นหนี้เสีย จากการหารือกับผู้บริหารแบงก์รัฐ ยังสามารถบริหารจัดการได้ มีฐานะ การกันสำรองหนี้ อยู่ในระดับแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบสถาบันการเงิน ทั้งหมด มีการพักหนี้ให้กับลูกค้า 12.12 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 6.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการพักหนี้ของแบงก์รัฐ 6.57 ล้านราย มูลหนี้ 2.89 ล้านล้านบาท และเป็นในส่วนของนอนแบงก์ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากแบงก์รัฐ 9.56 แสนราย มูลหนี้ 2.38 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งติดต่อและหารือกับลูกหนี้แต่ละรายเพื่อกำหนดการช่วยเหลือที่สอดรับกับสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย (tailor-made) หลังมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หมดอายุลงในวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา 

โดยให้แบ่งลูกหนี้เป็นกลุ่ม ได้แก่  1.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังได้รับผลกระทบสูงจากการระบาดของโควิด-19 และยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอน ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถขยายระยะเวลาการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมีสถานะเป็นหนี้เสีย  

2.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้แต่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เพื่อให้เงื่อนไขการจ่ายหนี้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้และลดภาระของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวในระยะยาว  

3. ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีความพร้อมและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจรับชำระหนี้ตามปกติ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญาเนื่องจากลูกหนี้ยังต้องรับภาระดอกเบี้ยในช่วงที่ได้รับการพักชำระหนี้   

นายอาคม กล่าวอีกว่า คลังยังมีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ภายใต้มาตรการอื่น ๆ ตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละรายและบริบทของระบบเศรษฐกิจ ผ่านการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอน เช่น พักชำระหนี้เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยในระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ลูกหนี้แต่ละราย แต่ไม่ควรเกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจติดตามเพื่อดูแลลูกหนี้แต่ละรายอย่างใกล้ชิดและคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้ในระยะยาวด้วย  

นอกจากนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ให้แก่ลูกหนี้ ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรายย่อย เช่น การลดค่างวด การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น รวมถึงการให้สินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งการให้แรงจูงใจแก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพกลับมาชำระหนี้ตามปกติเพื่อลดภาระหนี้ของลูกหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญาและป้องกันปัญหาวินัยทางการเงิน (Moral Hazard) เช่น การลดดอกเบี้ย การคืนเงินบางส่วนเพื่อเป็นรางวัลให้ลูกหนี้ที่กลับมาชำระหนี้เป็นปกติหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี เป็นต้น 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า มีลูกค้าพักหนี้กับออมสิน  3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นหนี้กลุ่มเปราะบาง ที่ต้องเฝ้าระวัง 10% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยมาตรการพักหนี้ของออมสิน ได้ขยายถึงสิ้นปี 2563 หลังจากนั้น จะพิจารณาขยายให้ 6 เดือน โดยให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีราย โดยที่ผ่านมา ออมสินได้ตั้งสำรองหนี้เสียพิเศษมากกว่าสถานการณ์ปกติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดในอนาคต 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า มีลูกค้าที่เข้ามาตรการพักหนี้ 10 มาตรการของธอส. รวม 6.8 แสนราย มูลหนี้ 5.7 แสนล้านบาท เป็นเอสเอ็มอีสร้างแฟลต 3 พันราย มูลหนี้ 6.8 พันล้านบาท ซึ่งเข้าไปดูแลแล้ว โดยมีกลุ่มลูกหนี้ ที่ต้องการพักหนี้ต่อ 6 หมื่นล้านบาท เหลือ 2.4 แสนล้านบาทที่ไม่ติดต่อมาซึ่งคาดว่าจะชำระได้ปกติ ส่วนการจัดหนี้เสียตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จำนวนสินเชื่อรวม 1.27 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีหนี้เสีย 4.9%  

 นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.พักหนี้ให้ลูกค้า รวม 3.25 ล้านราย เป็นมูลหนี้ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของสินเชื่อรวม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดชั้นลูกหนี้ ติดตามว่ารายใดเป็นกลุ่มเปราะบาง โดยธ.ก.ส.มีการตั้งสำรองไว้หมดแล้ว 

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันแบงก์รัฐมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดย ธนาคารออมสิน มีการกันสำรองเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 15.4% ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ 12.5% และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ 15.3% นอกจากนี้ ธนาคารออมสินมีการตั้งสำรองสูงกว่าหนี้เสีย 1.2 เท่า ธอส. 1.6 เท่า และ ธ.ก.ส. 5-6 เท่า 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...