ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ท้องถิ่นจุดพลุ!!แยกอปท.พ้นมหาดไทย(รายงานพิเศษ)
10 ก.ย. 2559

          จากที่ได้นำเสนอถึงข้อดี หรือความเห็นคล้อยในกฏหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นมาแล้ว วันนี้ลองพิจารณาถึงข้อมูลอีกด้านว่าเป็นอย่างไร ให้มุมมองความคิดที่ควรใคร่ครวญตรึกตรองหรือไม่ เมื่อเสียงของคนในเริ่มดังออกมาในมุมที่เห็นต่างบ้าง พร้อมข้อเสนอที่เรียกว่าอาจเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศกันเลยทีเดียวกับการโยนหินถามทางแยกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกจากกระทรวงมหาดไทย

          สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย โดยทีมวิชาการ ได้ให้ข้อสังเกตุตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา นับมาจากวันที่ วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีมติเห็นชอบร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองท้องถิ่นเสนอนั้น มีข้อมูลค่อนข้างสับสนกับข้อมูล ข่าวสารพอสมควร และมีประเด็นโต้แย้งมากมาย โดยเฉพาะความเห็นต่าง ในข้าราชการส่วนท้องถิ่น

กระแสคัดค้านการเข้าสู่ระบบแท่งของท้องถิ่น

          15 สิงหาคม 2559 นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง ปลัด อบต. และนายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย บอกว่า ไม่เคยสนับสนุนการเข้าสู่ระบบแท่งมาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันคนท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งรวมถึงฝ่ายการเมือง และฝ่ายประจำท้องถิ่น ควรหันหน้าร่วมกัน ช่วงที่ผ่านมา ความร่วมมือต่อสู้เรียกร้องของข้าราชการส่วนท้องถิ่นอ่อนกำลัง เพราะความเห็นต่างของปลัด อปท. หัวเรือใหญ่ 3 คน แต่ขณะนี้การสงวนจุดต่าง แสวงหาจุดร่วม เกิดขึ้น โดยการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทบทวนเนื้อหาร่าง พรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... รวม 7 ข้อ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งก็คือ หน่วยงานกำกับดูแล อปท. ตามร่าง มาตรา 27

          นอกจากนี้ นางกิตติยา ทิพยโสตถิ ประธานสมาพันธ์ข้าราชการสายทั่วไป/วิชาการ อปท. ได้เรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2 ข้อ (1) ขอเป็นตัวแทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นใน ก.ถ. ให้ชัดเจนว่า ต้องมาจากสายบริหาร อำนวยการ วิชาการ และทั่วไป ในสัดส่วนที่เท่ากัน และ (2) ขอให้ชะลอหลักเกณฑ์ฯ ที่มีผลกระทบต่อข้าราชการ อปท. ประเภททั่วไป และประเภทวิชาการ ที่บรรจุก่อน 1 มกราคม 2559

องค์กรกำกับดูแลการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

          นายพิพัฒน์ ไม่เห็นด้วยที่ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนราชการระดับกอง หรือสำนักในบังคับบัญชาของรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และท้องถิ่นจังหวัด เนื่องจากบุคลากรอปท.มาก สังกัดหลากหลาย มีปัญหาที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการแก้ไข จึงควรให้เป็นหน่วยงานอิสระสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ขึ้นตรงต่อประธานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีสถานะเทียบเท่ากรม และสำนักงานคณะกรรมอนุการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด มีสำนักงานในระดับจังหวัด เทียบเท่าสำนัก หรือกอง ขึ้นตรงเลขาธิการ ก.ถ. โดยการกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัด

ข้อเสนอของข้าราชการ อปท. กลุ่มนิติกร

          ข้าราชการ อปท. กลุ่มนิติกร ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี สรุปประเด็นสำคัญ (1) โครงสร้าง ขนาด จำนวนประชากร มีความแตกต่างกัน อปท. ควรมีขนาดเหมาะสม เพื่อให้สามารถพัฒนา อปท.ได้ (2) เรื่องการกระจายอำนาจ ไม่เหมาะสมกับเงินงบประมาณที่ได้รับ คือ กระจายอำนาจ แต่ไม่กระจายเงิน (3) การกำกับดู แล ของ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อประโยชน์ของตนเอง เช่นเรื่องเงินอุดหนุน และงบประมาณช่วยเหลือที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่น

          (4) ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนก่อให้เกิด ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก การข้ามอาวุโส การข้ามผู้บังคับบัญชาฝ่ายประจำ (5) การบริหารงานบุคคลท้องถิ่นทุจริตมาก การสอบ ส่วนกลางน่าจะจัดสอบเองโดยไม่มีข้อยกเว้น (6) การโอนย้าย ข้าราชการส่วนท้องถิ่นระดับผู้บริหารงาน อปท. ควรจะมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบ มิฉะนั้น อาจก่อให้เกิดการทุจริต และเล่นพรรคเล่นพวก (7) อปท. ควร สังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี หรือแยกออกมาเป็นกระทรวงของตนเอง ไม่ควรสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพราะภารกิจ มีกฎหมาย เฉพาะของตนเองแล้ว และลักษณะงาน แยกมาจากกระทรวงมหาดไทย

ร่างกฎหมายดีๆ จาก คปก.

          ท่ามกลางความสับสน เกิดการร่วมกันเพื่อสร้างแนวร่วมในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งการรวมกลุ่ม ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น แบบไม่ทางการ อาทิ การจัดตั้ง สมาพันธ์ หรือ สหพันธ์  กลุ่ม ชมรม” ฯลฯ และเป็นกลุ่มแบบทางการ จดทะเบียนจัดตั้ง สมาคม ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของข้าราชการในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ ฯ ตามร่างกฎหมายการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นอีกฉบับหนึ่ง ที่เสนอโดย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)ในเรื่อง การรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหภาพ ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

          ในความเห็นต่างวันนี้ สมาคมพนักงานเทศบาลฯได้ทิ้งท้ายโดยฝากคนท้องถิ่นว่า การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงเวลาหรือยังที่จะต้อง แยกออกจากกัน ระหว่าง รัฐศาสตร์ กับ รัฐประศาสนศาสตร์ให้การปกครองส่วนภูมิภาคใช้หลักการปกครอง รัฐศาสตร์ ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ใช้หลักการบริหาร หรือ รัฐประศาสนศาสตร์ เพราะจำเป็นแยกการปกครองและการบริหารออกจากกัน ฉะนั้นอปท. จึงควรแยกออกจาก กระทรวงมหาดไทย ที่เน้นอำนาจทางการปกครอง มิใช่ทางการบริหาร ท้องถิ่นมีภารกิจเฉพาะที่แตกต่างจากภารกิจของมหาดไทย อีกทั้งได้มีกฎหมายบัญญัติอำนาจหน้าที่ให้แก่ อปท. หลายฉบับรองรับไว้แล้ว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...