ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กรมประมง โชว์ผลสำเร็จ 2 ชุมชน ต้นแบบ“ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำฯ”
15 พ.ย. 2563

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กรมประมงร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ คณะกรรมการบริหารจัดการแหล่งน้ำหนองซับสมบูรณ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งจังหัน จัดงาน "หว่านแห จับปลา หรรษา บุรีรัมย์" ปีที่ 3 โชว์ผลสำเร็จจากโครงการ "ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม" ซึ่งกรมประมงส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานรากเลี้ยงชุมชนอย่างยั่งยืน จนคว้ารางวัลเลิศรัฐ 2 ปีซ้อน ในโอกาสนี้ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงาน โดยมีชาวบ้านในพื้นที่บริเวณหนองซับสมบูรณ์ให้การต้อนรับ

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการ "ธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม" เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีความมุ่งหวังที่จะให้ชุมชนได้มีผลผลิตสัตว์น้ำเพียงพอต่อการบริโภค สามารถสร้างรายได้ - ลดรายจ่ายในครัวเรือนให้กับประชาชน รวมทั้งชุมชนมีศักยภาพสามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดและบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนได้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้หลักการ "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมประมงได้มุ่งผลักดันโครงการดังกล่าวฯ จนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบและมีการนำไปต่อยอดขยายผล ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ดังจะเห็นได้จากโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมหนองซับสมบูรณ์ หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งจังหัน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2560 โดยมีคณะทำงานของชุมชน 14 คน มีนางหนูแดง ทองใบ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการฯ และมีสมาชิกในชุมชนร่วมเป็นหุ้นส่วนจำนวน 81 คน มีผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 285 หุ้นๆ ละ 100 บาท โดยการดำเนินงานเน้นใช้หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การร่วมคิดวางแผน ดำเนินการ ติดตาม และประเมินผล โดยมีเจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โครงการฯ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการจับผลผลิตสัตว์น้ำขึ้นใช้ประโยชน์กว่า 13 ตัน มีรายได้จากโครงการฯ ทั้งสิ้น 392,764 บาท

รายได้ดังกล่าวมาจากการขายบัตรจับปลาและทยอยจับผลผลิตสัตว์น้ำ เป็นเงิน 304,125 บาท การขายปลาสด 75,009 บาท การแปรรูป (ปลาส้ม, ปลาแดดเดียว) 6,140 บาท การขายลูกพันธุ์ปลา 5,490 บาท เป็นสถานที่ดูงาน 2,000 บาท และยังมีการปันผลรายได้เฉลี่ยคืนแก่สมาชิกทุกปี ซึ่งที่ผ่านมามีการปันผลคืนแล้ว 2 ครั้งเป็นเงิน 36,705 บาท (ปันผลคืนให้หุ้นละ 175 บาท)

ผลจากความสำเร็จของชุมชนบ้านซับสมบูรณ์ดังกล่าว จึงเป็นต้นแบบ "ซับสมบูรณ์โมเดล" จนสามารถคว้ารางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ได้ถึง 2 รางวัล ในระยะเวลา 2 ปีซ้อน ดังนี้ 1. รางวัลเลิศรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2561 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม"ระดับดี" โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงบ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์ และ 2. รางวัลเลิศรัฐประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engaged Citizen) "ระดับดีเด่น" นางหนูแดง ทองใบ ประธานโครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงบ้านซับสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์

นอกจากนี้ ยังมีผลสำเร็จของโครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วมหนองทานตะวัน หมู่ที่ 9 ตำบลหนองเต็ง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการฯ ในปี พ.ศ.2563 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารโครงการฯ จำนวน 16 คน มีนายเฉลิม แก้รัมย์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งชุมชนได้ร่วมกันกำหนดกฎกติกาเพื่อดูแลบริหารจัดการแหล่งน้ำ และมีการระดมหุ้นเพื่อตั้งกองทุน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 94 คน มีผู้ถือหุ้นจำนวน 154 หุ้น มีเงินในกองทุนรวมทั้งสิ้น 15,400 บาท

โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม กรมประมงให้คำแนะนำคอยเป็นพี่เลี้ยงด้านวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน พร้อมร่วมกับชุมชนเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำที่ปล่อยอย่างต่อเนื่อง และยังได้ทำการศึกษาดูงานจากแหล่งน้ำหนองซับสมบูรณ์ นำความรู้มาประยุกต์ใช้จนเกิดรายได้ตั้งแต่ในปีแรกที่ดำเนินการ เป็นเงิน 21,917 บาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายลูกพันธุ์ปลานิล 500 ตัว เป็นเงิน 1,500 บาท การขายปลาดุก 278 กิโลกรัม เป็นเงิน 19,467 บาท และการขายปลาในคอก 450 บาท โดยมีแผนจะปันผลคืนแก่สมาชิกหลังจากเปิดจับปลาประมาณเดือนเมษายน 2564

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปีต่อไป ทางชุมชนจะมีการสร้างโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ บ่ออนุบาลลูกปลา เปิดจำหน่ายลูกปลาแก่สมาชิก และบุคคลทั่วไป สร้างโรงเรือนแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อให้โครงการมีความสมบูรณ์มากขึ้น และให้ชุมชนอื่นได้เรียนรู้นำไปต่อยอดดำเนินการในแหล่งน้ำอื่นต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...