ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
อพท. กับภารกิจยกระดับแหล่งท่องเที่ยว ความสำเร็จภาพลักษณ์ประเทศไทยด้านความยั่งยืน
19 พ.ย. 2563

รายงานพิเศษ

อพท. กับภารกิจยกระดับแหล่งท่องเที่ยว

ความสำเร็จภาพลักษณ์ประเทศไทยด้านความยั่งยืน

 

การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นปัจจัยสำคัญด้านหนึ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการหารายได้เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น และพัฒนาให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ขึ้นมารองรับนักท่องเที่ยว โดยหน่วยงานสำคัญที่กำลังทำหน้าที่ดังกล่าวนี้คือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

ภายใต้บริบท “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” อพท.ยกระดับทำงานเชิงรุกจากพื้นที่พัฒนาขนาดใหญ่ลงลึกสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก  แม้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อพท.ยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นำเสนอการยกระดับความพร้อมด้านสุขอนามัยของชุมชน จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว 81 ชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งพัฒนาจนผ่านเกณฑ์การท่องเที่ยวที่ได้การรับรองจากสภาการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council : GSTC  

ในฟากการเยียวยาผู้ประกอบการ อพท.ได้เชิญชวน 6 สมาคม พัฒนาเส้นทางและโปรแกรมท่องเที่ยว จาก 81 ชุมชนดังที่กล่าว เพื่อเตรียมไว้เสนอขายกับนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ เช่น โปรแกรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา โปรแกรมท่องเที่ยวอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โปรแกรมท่องเที่ยวเขาหลัก-บ้านท่าดินแดง จังหวัดพังงา เป็นต้น

แต่ละปี อพท.มีผลการดำเนินงานเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือเป็นจำนวนไม่น้อย อย่างล่าสุดที่เพิ่งเนผ่านตากันไป คือข่าว 2 เมืองท่องเที่ยวที่ อพท.พัฒนามาแต่ต้น คือ เชียงคาน จังหวัดเลย และในเวียง จังหวัดน่าน ได้รับการจัดอันดับ TOP 100 เมืองท่องเที่ยวยั่งยืนจาก Green Destination Foundation เป็นองค์กรอิสระจากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง TIB ประเทศเยอรมนีร่วมตัดสินด้วย ทำให้ทั้ง 2 เมืองดังกล่าว จะได้รับการโปรโมตจากผู้จัดงาน ITB นำข้อมูงขึ้นเว็บไซต์เพื่อแนะนำเป็นสถานที่ท่องเทียวที่ได้มาตรฐาน ทำให้นักท่องเที่ยวและบรรดาผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รู้จัก และเข้าสู่รายชื่อการเป็นุดหมายปลายทางของการเดินทางต่อไป

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า ในเชิงการบริหารประเทศ การได้อันดับ TOP 100 คือการตอบโจทย์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเชิงรูปธรรม และ อพท.จะนำความสำเร็จครั้งนี้ไปขยายผลยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่รับผิดชอบ เบื้องต้นวางยุทธศ่สตร์ยื่นเสนอรับการจัดอันดับ TOP 100 อีก 4 แห่ง ได้แก่ นาเกลือ เขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย  เกาะหมาก จังหวัดตราด และตำบลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ส่วนของจังหวัดเลย จากนี้ไป อพท.ยังมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาผลักดันพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก เพิ่มกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวเป้าหมายสำคัญคือ เพิ่มวันพักและเพิ่มการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว โดย อพท.จะพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง 15 ชุมชน จาก 9 อำเภอ ตามแผนยุทธศาสตร์  (2563-2570) กำหนดธีมท่องเที่ยวแต่ละแห่งให้ชัดและแตกต่าง ได้แก่ อำเภอเมืองเลย เชียงคาน ท่าลี่ ด่านซ้าย ภูเรือ นาแห้ว ภูกระดึง ภูหลวง และหนองหิน เป้าหมาย 7 ปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสะสมรวมกว่า 35,000 ล้านบาท เช่น เส้นทางตามรอยแสวงธรรม “หลวงปู่มั่น” กิจกรรมท่องเที่ยวที่ชุมชนไทพวน ไทดำ เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนบ้านคกงิ้วและแลนด์มาร์ค “สกายวอล์ค” ทั้งหมด จะเข้ามาเติมสีสันให้กับอำเภอเชียงคานที่จะเป็นแม็กเน็ตดึงดูดนักท่องเที่ยว

ส่วนอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญและความภาคภูมิใจของ อพท. ที่บ่งบอกถึงความสำเร็จด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ซึ่งจะป็นประโยชร์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย คือการยกระดับพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาจาก อพท. ได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่าย “เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก’ (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) ซึ่งเมื่อปี 2562 จังหวัดสุโขทัยได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) และในปี 2564 อพท.วางแผน เตรียมเสนออีก 2 พื้นที่ เข้าสู่สมาชิกเมืองสร้างสรรค์ คือพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ในสาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และจังหวัดสุพรรณบุรี ในสาขา เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี เพราะมีความโดดเด่นในเรื่องเพลงพื้นบ้าน   

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา เป็นความสำเร็จของประเทศไทยและคนไทย ในเรื่องของความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยวที่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับในเวทีสากล สะท้อนถึงการตัดสินใจอย่างถูกต้อง ที่ประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญและสนใจเรื่องความยั่งยืนของการท่องเที่ยวมาอย่างน้อย 18 ปี นับจากการก่อตั้งหน่วยงานที่ชื่อ อพท. และความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย  ซึ่งชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากจะพร้อมเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเปิดกว้างให้กับชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ เพราะเป้าหมายของ อพท. คือ พัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...