ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
เที่ยวภูอีเลิศ ป่าหมอกเหนือแม่น้ำเหือง ที่ปกคลุมไปด้วยรักษ์จากชุมชน
22 พ.ย. 2563

อาจารย์นรเศรษฐ์ แสนประสิทธิ์ หนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกพัฒนาภูอีเลิศ กล่าวว่า เราต้องการให้การท่องเที่ยวเข้ามาดูแลป่า ง่าย ๆ เลย แค่คนไปเที่ยวตลอดทั้งปี กลางคืนมีเจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน นักท่องเที่ยวกางเต็นท์อยู่บนภู คนที่จะเข้าไปทำลายป่าก็จะต้องกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่บ้าง แต่การทำท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดก็ไม่ง่าย ตอนสำรวจพื้นที่ครั้งแรกเราก็เดินกันเรื่อย ๆ สำรวจว่าหน้าผาไหนสวยพอเป็นจุดขายได้ ก็มากางเต็นท์นอนตรงผาอีเลิศนี่แหละ สักตีสี่ปรากฏว่าหมอกลอยมาจากร่องเขาซึ่งเชื่อมระหว่างไทย-ลาว หมอกไหลมาถึงจุดที่ทีมพวกเรากางเต็นท์ เลยคิดกันว่าจะพัฒนาตรงภูอีเลิศให้เป็นจุดท่องเที่ยวด้วยการตัดไม้ให้น้อยที่สุด ถนนก็ยังเป็นถนนดินแบบเดิม ไม่ให้รถนักท่องเที่ยวขึ้นมานอกจากรถอีแต๊กของชาวบ้าน ถ้าจะมากางเต็นท์บนภูกำจำกัดเพียงครั้งละ 40 คน ย้อนเล่าถึงที่มาของการดึงชุมชนและผืนป่าให้อยู่ร่วมกันผ่านตำนานความรักของอีเลิศและบักเกิด หนุ่มสาวชาวเมืองกาสี แขวงเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านปากหมันที่เดินทางข้ามแม่น้ำเหืองจากลาวมายังฝั่งไทยเมื่อราว 200 ปีก่อนชาวปากหมันเล่าต่อ ๆ กันมาเป็นดั่งนิทานพื้นถิ่นให้ลูกหลานได้ฟังก่อนนอนว่า อีเลิศนั้นมั่นคงในรักกับชายหนุ่มที่ชื่อบักเกิด ต่อให้บักเกิดเจ้าชู้ขนาดไหนก็ยังมั่นคงในรัก และพิสูจน์รักแท้ด้วยการกระโดดหน้าผาเหนือแม่น้ำเหืองสิ้นใจลงไปกลางหุบเหว ภายหลังบักเกิดจึงกระโดดหน้าผาตายตามอีเลิศไป กลายเป็นผาคู่ชื่อ "ผาอีเลิศ" และ "ผาบักเกิด" ที่ไม่มีทางบรรจบกัน

จากตำนานสู่การท่องเที่ยวชุมชนที่ในช่วงแรกแทบไม่มีคนในชุมชนสนใจ และยากจะเชื่อมั่นในศักยภาพของบ้านปากหมัน เพราะในความคิดของคนพื้นถิ่นที่เห็นป่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน... ป่าก็คือป่า ไร่นาก็คือไร่นา แล้วคนเมืองที่อยู่สุขสบายจะอยากมาเที่ยวป่า มานอนลำบากกลางลานดิน ลานหินทำไม นั่นจึงทำให้ช่วงแรกของการทำท่องเที่ยวชุมชนบ้านปากหมันมีสมาชิกเข้าร่วมเพียง 15 คน โดยเปิดทำการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ส่วนปัจจุบันสมาชิกชุมชนท่องเที่ยวบ้านปากหมันได้เพิ่มเป็น 300 กว่าคน เรียกว่าร่วมมือร่วมใจกันหมดทั้งหมู่บ้าน ครบทั้งกลุ่มโฮมสเตย์ รถอีแต๊ก นำเที่ยว การแสดง สินค้า OTOP และอาหาร กลายเป็นชุมชนที่สามารถใช้การท่องเที่ยวรักษาป่าและสร้างรายได้เสริมได้อย่างครบวงจร

สำหรับเราบอกเลยว่าเสน่ห์ของภูอีเลิศนั้นแพรวพราวด้วยสีสันของผืนป่าที่มาเต็มทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าริมหน้าผา ทำให้สามารถขึ้นมาเที่ยวป่าได้ตลอดทั้งปี ดังเช่นในช่วงปลายปีเช่นนี้ ทั้งต้นเต็ง รัง จิกกำลังผลัดใบย้อมป่าทั้งผืนให้เป็นสีเหลือง น้ำตาล แดง ตัดกับฟ้าฤดูหนาวสีฟ้าใส สวยไม่แพ้ป่าเปลี่ยนสีของเมืองนอกเลยทีเดียว ไม่นับรวมดอกข้าวสารป่า ดอกช้างน้าว และดอกสะแล่งหอมไก๋ ที่ผลัดกันส่งกลิ่นหอมไกลมาจากริมหน้าผา อีกทั้งสถานที่ตั้งของภูอีเลิศก็ใกล้หมู่บ้าน เพียงขนสัมภาระขึ้นอีแต๊กลีมูซีนไม่เกิน 45 นาทีก็ถึงลานกางเต็นท์ซึ่งเดินไปยังจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกได้ใกล้มาก ห้องน้ำบนยอดภูก็สะอาดสะอ้าน แม้ไม่สามารถอาบน้ำได้แต่ก็มีน้ำให้คนนอนเต็นท์ได้เข้าส้วมสบาย ๆ ตลอดคืน ด้านร้านอาหารบนภูไม่มีร้านใหญ่ขายอาหารแบบอุทยาน ทว่าก็มีเพิงขายกาแฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสามารถก่อไฟหุงหาอาหารง่ายๆ ได้ข้างเต็นท์

ยามเย็นจากหน้าผาภูอีเลิศสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกลับฝั่งเมืองลาวได้สวยอลังการมาก ส่วนยามเช้ามีจุดชมทะเลหมอกให้ได้เลือกชมหลายมุมอย่างไม่ต้องเบียดเสียด และสำหรับใครที่ไม่สะดวกนอนเต็นท์สามารถขึ้นรถอีแต๊กมาชมพระอาทิตย์ขึ้นได้ตั้งแต่ตีห้า ส่วนใครกางเต็นท์นอนยังสามารถชมทะเลดาวกลางป่าได้ชัดเจนมาก ต่อจากภูอีเลิศ บ้านปากหมันยังมีโปรแกรมพิเศษเป็นเส้นทางเดินป่าเส้นสั้นๆ สู่น้ำตกแก่งช้าง หาดหงษ์ ที่ซ่อนอยู่กลางผืนป่าเขียนชอุ่ม และที่รักที่สุดสำหรับทริปนั่งอีแต๊กไต่ดอยขึ้นภูอีเลิศครั้งนี้คืออัธยาศัยและความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านปากหมัน

บ้านปากหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สอบถามโปรแกรมท่องเที่ยว จองพื้นที่กางเต็นท์ รถอีแต๊กขึ้นภู รวมทั้งการแสดงท้องถิ่น ติดต่ออาจารย์นรเศรษฐ์ แสนประสิทธิ์ โทร.06-1053-1561 ค่ารถอีแต๊กขึ้นภู คันละ 500 บาท ค่าเช่าเต็นท์และที่นอน ชุดละ 300 บาท สำหรับคนที่นำเต็นท์ไปเองคิดราคากางเต็นท์ 30 บาท ใครอยากนอนโฮมสเตย์สบาย ๆ พร้อมโปรแกรมนำเที่ยวน้ำตก นอนบนภู ติดต่อพี่โย (ศิลปินทำผีตาโขน) โทร.08-5461-7230 สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดเลย ติดต่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดเลย โทร.0-4281-2812

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...