ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
“พุทธิพงษ์” หารืออี-คอมเมิร์ซ ยกระดับความปลอดภัยข้อมูล
14 ธ.ค. 2563

“พุทธิพงษ์” หารือผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสูงสุด หลังเจอข้อมูลลูกค้ารั่วไหลครั้งใหญ่ ย้ำทุกรายเป็น “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 มาตรา 37 แม้จะอยู่ในช่วงขยายเวลาบังคับใช้ ทำให้ยังไม่มีลงโทษ แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศกระทรวงเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้มีการเรียกประชุมหารือกับผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันจัดทำแนวทางดูแลข้อมูลของผู้ใช้บริการ และมาตรการในการดูแลข้อมูลผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสูงสุด ซึ่งในการประชุมยังให้ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ชี้แจงข้อเท็จจริงของข่าวที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการรั่วไหลและมีการนำไปประกาศขายกันทางไซเบอร์

โดยจากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ข้อมูลผู้ใช้บริการที่รั่วไหลไปจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ และถูกนำไปประกาศขายผ่านทางไซเบอร์เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในช่วงปี 2561 โดยประกอบด้วยข้อมูล เช่น ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล วันที่ทำธุรกรรม จำนวนเงิน ช่องทางการขาย สำหรับขั้นต้น ดีอีเอสได้ประสานงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง (USCERT) ในการประสานกับผู้ดูแลระบบเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวแล้ว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563 ซึ่งขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปอีก 1 ปี (27 พฤษภาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2564) แต่ยังกำหนดให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนด ซึ่งถึงแม้จะยังไม่มีบทลงโทษแต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2563 (18 กรกฎาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2564) กำหนดให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องดำเนินการ ดังนี้

1. การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและอุปกรณ์ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล โดยคำนึงถึงการใช้งานและความมั่นคงปลอดภัย 2. การกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตหรือการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล 3. การบริหารจัดการการเข้าถึงของผู้ใช้งาน เพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว 4. การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ใช้งาน เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดเผย การล่วงรู้ หรือการลักลอบทำสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล การลักขโมยอุปกรณ์จัดเก็บหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล 5. การจัดให้มีวิธีการเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังเกียวกับการเข้าถึง เปลี่ยนแปลง ลบ หรือถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องเหมาะสมกับวิธีการและสื่อที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 5 และ 7 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรู้ว่ามีการเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินคดีด้วย

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดเหตุข้อมูลผู้ใช้บริการรั่วไหล ผู้ให้บริการพึงจะต้องชี้แจงประชาชนผู้ได้รับผลกระทบถึงรายละเอียดข้อมูลที่ถูกเข้าถึง และแนะนำวิธีการปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การเปลี่ยนรหัสผ่าน และระมัดระวังเมื่อมีคนโทรไปเพื่อหลอกลวง นอกจากนี้ ผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ควบคมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้คู่สัญญาที่เป็นผู้ประมวลข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งที่เป็นคนกลางในการบริหารจัดการขาย (sales management platform) และผู้ให้บริการคลังสินค้าและขนส่ง

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนควรระมัดระวังในการใช้งาน Platform e-Commerce เพื่อลดผลกระทบกรณีข้อมูลรั่วไหล ได้แก่ เจ้าของข้อมูลไม่ควรหลงเชื่อโอนเงินให้กับผู้ที่ติดต่อเข้ามาทางโทรศัพท์ หรือ อีเมล์ ในทันที ควรตรวจสอบโดยการติดต่อกลับไปยังช่องทางปกติ, หากมีผู้ติดต่อมาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อให้โอนเงิน ควรปฏิเสธการโอนเงิน และติดต่อกลับไปยังหน่วยงานต้นสังกัดโดยตรง, หากมีการแจ้งเตือนเรื่องการเปลี่ยนรหัสผ่านทางอีเมลหรือ SMS ไม่ควรคลิกลิงก์ในทันที ให้ตรวจสอบกับหน่วยงานหรือผู้ให้บริการโดยตรง, แจ้งผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร เพื่อให้ทราบความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการแอบอ้างเป็นเจ้าของข้อมูล เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือน, กำหนด username password ให้แตกต่างกันออกไปในแต่ละบริการ, กรณีที่เป็นการใช้งานจากแอปพลิเคชันบนมือถือ ควรมีการติดตั้งแอปพลิเคชันป้องกันมัลแวร์ โดยหากมีข้อสงสัย ต้องการแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 1212

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...