ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
กระทรวงมหาดไทย – พลังงาน – ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุม VCS กับผู้ว่าราชการจังหวัด – นายอำเภอทั่วประเทศ เร่งขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์กับประชาชนทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง
14 ม.ค. 2564

กระทรวงมหาดไทย – พลังงาน – ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุม VCS กับผู้ว่าราชการจังหวัด – นายอำเภอทั่วประเทศ เร่งขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์กับประชาชนทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานร่วมการประชุมชี้แจงข้อราชการสำคัญ โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมการประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) และ DOPA Channel กับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางประจำภูมิภาค นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมประชุม

     นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางการพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก ปีงบประมาณ พ. ศ. 2564 วงเงิน 2,400 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้กลไกการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนหรือการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสมกับกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหกรณ์กลุ่มเกษตรกร ที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสม และเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการใช้พลังงานแบบพึ่งพาตนเองในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้  ซึ่งการจัดสรรเงินกองทุนฯ นี้จะช่วยเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดการกระจายไปยังทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยกระทรวงพลังงานจะสนับสนุนการทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากโครงการให้มากที่สุด

     นายกุลิศ สมบัติศิริ กล่าวว่า การจัดสรรเงินกองทุนฯ ดังกล่าว ในส่วนของจังหวัด วงเงินจังหวัดละ 25 ล้านบาท โดยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1) สถานีพลังงานชุมชน เป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานภายใต้แนวคิด ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยสามารถขอรับการสนับสนุนเทคโนโลยีเดี่ยวหรือหลายเทคโนโลยีที่ประกอบกัน โดยมีรูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-Pay) เช่น ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่ เตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง และระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากของเสีย เป็นต้น 2) ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับบ่อบาดาล โซล่าเซลล์ขนาด 2.5 กิโลวัตต์ และถังพักน้ำขนาดบรรจุ 20 ลูกบาศก์เมตร และ 3) ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ไม่มีไฟฟ้า ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย กลุ่มชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงเรียนในสังกัดรัฐบาล โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการ จะเสนอโครงการผ่านคณะทำงานบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานเชิงพื้นที่ทำการกลั่นกรอง เรียงลำดับความสำคัญเสนอคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) เพื่อนำเสนอไปยัง คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่อไป

     นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาลใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่  1) การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 ด้วยการพิจารณาจัดตั้งชุดปฏิบัติการมวลชนลงพื้นที่สร้างการรับรู้ความเข้าใจและเข้ามามีส่วนในการลดต้นเหตุการณ์เกิดไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 ร่วมกันระหว่าง ทส. ฝ่ายปกครอง ทหาร และจิตอาสาพระราชทาน รวมถึงส่งเสริมบทบาทเครือข่ายภาคประชาชน อปท. และผู้นำชุมชน รวมทั้งขอให้การลดและควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอื่น ๆ เช่น การจราจร ภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปด้วย 2) การปลูกป่า/สร้างฝาย/ระบบกระจายน้ำ : พื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยให้ทุกจังหวัดเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าตามคู่มือที่ ทส. ได้จัดทำไว้ ตามแผน 2.68 ล้านไร่ในปี 2570 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในและนอกเขตป่าร่วมกับชุมชน อปท. และทุกภาคส่วนตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ รวมทั้งพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าระดับจังหวัดให้แล้วเสร็จ ภายในเดือน ม.ค.64 การสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าต้นน้ำ การจัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการปลูกป่าต้นน้ำ อีกทั้งพิจารณาประสาน อปท. ร่วมกับชุมชน จัดตั้งเรือนเพาะชำชุมชน 3) การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ภายใต้ คทช. โดยเร่งรัดให้เกิดการอนุญาตการเข้าทำประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 375 พื้นที่ หรือ 1,890,648 ไร่ ใน 63 จังหวัด รวมถึงสำรวจพื้นที่สนับสนุนแหล่งน้ำ และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ คทช. นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่จำนวน 4.75 ล้านไร่ ในการสำรวจและรังวัดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ให้ครบถ้วนแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 64 และ 4) การขออนุญาตการใช้ประโยชน์ของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยการขออนุญาตการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ก่อสร้างไปก่อนได้รับการอนุญาตนั้น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งส่วนราชการที่ยื่นคำขอจัดเตรียมรายละเอียดประกอบคำขอให้ถูกต้องครบถ้วน ให้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่โดยเร่งด่วน ส่วนการขออนุญาตการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (โครงการใหม่) ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายใน 31 ม.ค. 64 โดย ทส. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 64

     พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำแนวนโยบายและโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันของส่วนราชการในส่วนภูมิภาค ไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงและรัฐบาลกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนตามวัตถุประสงค์ต่อไป

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...