ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
10ปีขุดกรุรถดับเพลิงฉาวค่าซ่อมบานใช้ได้จริงกี่คัน(รายงานพิเศษ)
06 ต.ค. 2559

          หลังจากที่รอเวลากันมานานกับโครงการจัดซื้อรถดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีมูลค่า 6,687,489,000 บาท  ก็ถึงคราวได้นำออกมา ส่วนจะได้ใช้งานอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน ก็ยังต้องรอกันอีกต่อไปหลังจากที่รอกันมาแล้วถึง 10 ปี ว่า 319 คันนั้นจะกลับมาใช้งานได้จริงสักกี่คัน และต้องใช้งบประมาณในการซ่อมอีกเท่าไหร่ รวมไปถึงค่าเช่าที่จอดซึ่งอย่างน้อยๆก็หลายร้อยล้านเลยทีเดียว

          สำหรับรถและเรือดับเพลิง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ได้จัดซื้อตั้งแต่ปี2547 เริ่มจ่ายเงินและจัดส่งรถมา ตั้งแต่ปี 2549 ระหว่างนั้นก็มีปัญหาในเรื่องความไม่โปร่งใสถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงานจนนำไปสู่การฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง และในที่สุดกระบวนการทางศาล คดีก็ได้ถึงที่สุดเมื่อปี 2556 มีนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องได้รับโทษจนถึงขั้นติดคุก บางรายรอดพ้นแต่ก็ยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องให้รับผิดทางละเมิด

          จากห้วงเวลาการสู้คดีกันจนถึงศาลตัดสิน ระหว่างนั้นกทม.ฟ้องร้องยกเลิกสัญญาซื้อรถต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อให้สัญญาเป็นโมฆะ โดยขอคืนเงินที่กทม.จัดซื้อและคืนรถและเรือดับเพลิงให้คู่สัญญา แต่ในที่สุดกทม.ก็ยอมรับการตัดสินคดีเมื่อปี 2558 โดยยอมรับผลของสัญญาจัดซื้อดังกล่าวและได้รับค่าเยียวยาจากคู่สัญญาคือ บริษัทสไตเออร์ฯเป็นวงเงิน 20.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 820 ล้านบาท เมื่อได้ข้อสรุปของคดีทั้งหมดแล้วจึงมีการตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำรถและเรือดับเพลิงที่จอดค้างอยู่ออกมาใช้งาน

          รถและเรือดับเพลิง จัดเก็บ 2 ส่วนคือล็อตแรก 176 คันที่มาถึงมกราคม 2549 ในความดูแลของ บริษัท เทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งได้ขนออกมาตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. ทั้งหมดเก็บไว้ที่สถานีดับเพลิงกทม.ในพื้นที่ต่างๆ อาทิ สถานีดับเพลิงสามเสน ตลิ่งชัน หนองแขม ประเวศ ลาดยาว เพื่อรอประกวดราคาหาเอกชน ซ่อมแซม คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน จากนั้นซ่อมอีก 6 - 8 เดือนซึ่งจะอยู่ในช่วงกลางปี 60 ที่รถดับเพลิงล็อตนี้จะออกวิ่งใช้งานจริง ขณะที่ล็อตที่ 2 จอดอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีบริษัท นามยงค์ เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ดูแล 139 คัน เป็นล็อตที่มีปัญหา ไม่เพียงเจรจากับเอกชนเจ้าของท่าเรือเท่านั้น ยังมีความเกี่ยวพันกับกรมศุลกากร เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้าอยู่ระหว่างดำเนินการทางศุลกากรระยะเวลาที่นานในคดีส่งผลให้ค่าภาษีและค่าปรับต่างๆ รวมแล้วกว่า 1,800 ล้านบาท ตามกฎหมายไม่สามารถยกเว้นได้

          แต่แล้วเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2559 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้มีคำสั่งในม.44 ให้รถเรือดับเพลิงในโครงการดังกล่าวเป็นยุทธภัณฑ์ ถือเป็นการปลดล็อคปัญหาใหญ่ของกทม.ลงได้ แต่ในส่วนของค่าจอด ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชน ยังไม่ได้ข้อยุติเนื่องจากทางบริษัทฯได้เรียกค่าจอดเป็นราคาสูงถึง 900 ล้านบาท จนต้องนำเรื่องฟ้องต่อศาลแพ่ง และอยู่ในกระบวนการไกล่เกลี่ยของอนุญาโตตุลาการ โดยมีการนัดเจรจากันมาหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่จบ ซึ่งกทม.มีเป้าหมายให้อยู่ภายในวงเงินประมาณ 200 ล้านบาท

          ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. บอกว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ขนย้ายรถดับเพลิงออกจากโกดังเก็บสินค้าของบริษัทเทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ ที่ต.ไทรน้อย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี โดยขนย้ายเสร็จทั้งหมด 176 คันในวันที่ 2 ก.ย. ซึ่งได้ประเมินสภาพและประมาณราคาซ่อมทั้ง 176 คันในวงเงิน 181 ล้านบาท อยู่ระหว่างกำหนดทีโออาร์-ประกวดราคาหาผู้รับจ้าง ส่วนที่เก็บไว้ในโกดังของบริษัท นามยงค์ เทอมินัล บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง 139 คัน ได้เจรจาต่อรองค่าจอด จากที่บ.นามยงค์ เรียกเก็บ 900 กว่าล้านบาท (คิดตามศุลกากรวันละ 270,000บาท ระยะเวลา 10ปี) ล่าสุดลดให้เหลือ 450 ล้านบาท แต่กทม.ขอจ่าย 200 ล้าน

          สำหรับพื้นที่กว่า 9 ไร่ บนถนนบางกรวย-ไทรน้อย ของโกดังบริษัทเทพยนต์ ที่ถูกใช้เป็นที่เก็บรถดับเพลิง และรถกู้ภัย 176 คันแบ่งเป็น 8 ประเภท รถดับเพลิง 4*4 พร้อมเครื่องหาบหาม 72 คัน รถดับเพลิงเคมี 7คัน รถบรรทุกเครื่องช่วยหายใจพร้อมเครื่องอัดอากาศ 2 คัน รถดับเพลิงพร้อมบันได 13 เมตร 9 คัน รถไฟฟ้่ส่องสว่าง 39 KVA 4คัน รถกู้ภัยกลาง 2 คัน รถดับเพลิงบรรทุกน้ำ 2,000ลิตร มีหัวฉีด 77 คัน ทั้งหมดถูกจอดตากแดด ตากฝน กระทั่งผ่านวิกฤติ น้ำท่วมปี 54 รวมระยะเวลานานกว่า 10 ปี เมื่อตรวจสอบความเสียหายพบว่า ล้อรถทุกคันต้องเปลี่ยนยางทั้งหมด และจะแบ่งความเสียหายเป็น2ประเภท คือ ระบบเครื่องยนต์ และระบบดับเพลิง ซึ่งประเมินงบประมาณที่ใช้ซ่อมทั้ง 176 คันมูลค่า 183 ล้านบาทโดยยังไม่รวมค่าเช่าที่ แม้จะให้นำรถออกมาก่อน แต่ก็มีมูลค่าเช่าที่ ต้องเรียกเก็บกับ กทม. ภายหลังกว่า 200 ล้านบาท

          ขณะที่นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการเจรจากับบริษัทนามยงค์ แยกเป็นรถดับเพลิง 67 คัน รถดับเพลิงบรรทุกน้ำขนาด 1 หมื่นลิตร 72 คัน ซึ่งบริษัทนามยงค์ฯ ได้ไปฟ้องร้องต่อศาลกรณีค่าเช่าที่จอดรถดังกล่าว ทางกทม.จึงจะเจรจากับบริษัทนามยงค์ฯอีกครั้ง ซึ่งที่บริษัทนามยงค์ฯเสนอตัวเลขมา แต่กทม.ก็ได้หาตัวเลขค่าเช่าที่เป็นไปได้ ซึ่งรถทั้ง 139 คันที่จะนำออกมาเมื่อใดก็อยู่ในขั้นตอนการเจรจา โดยจะขอนำรถออกมาดำเนินการก่อน

          ทั้งนี้นายจักกพันธุ์ บอกว่าได้ตรวจสอบรถทุกคันแล้วสามารถสตาร์ทได้ เคยมีการทดสอบการฉีดน้ำ ระบบฉีดน้ำยังสามารถทำงานได้ ซึ่งทั้ง 139 คันมีปัญหาระบบแบตเตอรี่ ยางรถยนต์ ที่จะต้องเปลี่ยน และตรวจสอบระบบเครื่องยนต์และระบบดับเพลิง และได้จัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไว้ที่ 178 ล้านบาท

          “ จะนำรถดับเพลิง 139 คัน ออกมาซ่อมเพื่อใช้งานได้เมื่อไรนั้นอยู่ที่การเจรจา และต้องทำหนังสือถึงกรมศุลกากรมเพื่อนำรถออกตามคำสั่ง คสช.ที่ 51/2559 และเนื่องจากรถทั้ง 139 คัน อยู่มานานกว่า 10 ปี ตามกฎหมายถือว่าตกเป็นสินค้าคงค้างอยู่ที่กรมศุลกากร กทม.ต้องขอยกเว้นเพื่อจะนำรถออกมาด้วย ” นายจักกพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย ซึ่งนับจากนี้ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่ารถทั้งหมดจะออกมาวิ่งได้จริงวันไหน? ปีใด? กี่คัน? และกทม.ยังต้องควักเงินจ่ายค่าโง่จากเรื่องนี้อีกเท่าไหร่???

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...