ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
จีนพ้นจน ไทยติดวังวน
16 มี.ค. 2564

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

จีนพ้นจน

ไทยติดวังวน

 

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เข้าร่วมการประชุมใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิดชูความสำเร็จด้านการบรรเทาความยากจน และมอบรางวัลต้นแบบการต่อสู้กับความยากจนของประเทศ เขาได้ประกาศ “ชัยชนะโดยสมบูรณ์”ในการต่อสู้กับความยากจน ซึ่งเกิดจากความพยายามร่วมกันของทุกกลุ่มชาติพันธุ์

ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ช่วยเหลือชาวชนบทที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ถึง 98.99 ล้านคน โดยมี 128,000 หมู่บ้าน และ 832 อำเภอ ได้รับการปลดออกจากบัญชีพื้นที่ยากไร้

ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่จีนเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดประเทศ สามารถลดจำนวนคนยากจนลงได้มากกว่า 850 ล้านคน ในปี 1972 มีคนยากจนในชนบท 770 ล้านคน อัตราความยากจน 97.5%  ถึงปี 2018 คนยากจนในชนบทลดเหลือ 16.6 ล้านคน อัตราความยากจนเหลือ 1.7%

ปี 1952 รายได้เฉลี่ยต่อคนแค่ 119 หยวน (ประมาณ 595 บาท) ถึงปี 2018 รายได้เฉลี่ยเพิ่มเป็น 9,732 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 291,960 บาท) ปี 2019 จีดีพีของจีนมีเกือบ 100 ล้านล้านหยวน และปี 2020 จีดีพีเฉลี่ยต่อคนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ (มากกว่า 300,000 บาท)    

ปีที่แล้ว 2020 ถือเป็นปีที่มีความหมายสำคัญ เป็นปีที่จีนตั้งเป้าจะต้องหลุดพ้นความยากจนอย่างสิ้นเชิงตามแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 ของจีน (2016-2020) ซึ่ง 1 ใน 3 เรื่องที่ต้องเอาชนะคือ “การขจัดความยากจนอย่างตรงจุดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” ซึ่งจีนก็ทำได้สำเร็จ

โดยสี จิ้นผิง กล่าวว่า “เป็นปาฎิหาริย์ที่จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์

มองคนจีนพ้นความยากจน แล้วหันกลับมองพี่น้องเพื่อนร่วมชาติชาวไทยให้สงสัยว่า ทำไมส่วนหนึ่งยังจนดักดาน แถมยังมีแนวโน้มว่าจะมีคนจนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 ตั้งแต่ปี 2504-2509 ปัจจุบันมาถึงแผนฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 ซึ่งตั้งอยู่บนกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของ คสช. และนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยเป็น Thailand 4.0

ย้อนไปดูข้อมูลคนจนในประเทศไทย ปี 2541 มีคนยากจน 25.8 ล้านคน จากจำนวนประชากร 61.59 ล้านคน ปี 2552 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน จาก 66.87 ล้านคน 

ปี 2558 หลังการรัฐประหารของ คสช. คนจนลดงเหลือ 4.25 ล้านคน ปี 2560 กลับมาเพิ่มเป็น 5.3 ล้านคน จากประชากร 69.21 ล้านคน ปี 2561 เพิ่มเป็น  6.7 ล้านคน ปี 2562 คนยากจนลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน จากประชากร 69.63 ล้านคน 

สัดส่วนคนจนปี 2562 ที่ 6.24% ทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สาระสำคัญของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ว่าด้วยเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือ 6.5% ณ สิ้นแผนพัฒนาฯในปี 2564 

ปัจจัยที่ทำให้การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 เกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐปี 2562 โดยเฉพาะโครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจน ที่รัฐให้เงินช่วยค่าครองชีพโดยปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน

สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการทำงานของรัฐบาลคือ พบว่าในปี 2562 มีประชากรไทยที่จัดอยู่ในชั้น “คนเกือบจน” หรือกลุ่มคนที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคใกล้เคียงเส้นยากจน จำนวนทั้งสิ้น 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.79% ของประชากรทั้งประเทศ เทียบกับปี 2561 ที่มีจำนวน 5.55 ล้านคน

ปี 2563 เจอโควิด-19 ระบาด ตัวเลขคนจนอย่างไม่เป็นทางการเพิ่มเป็น 5.2 ล้านคน แต่สันนิษฐานว่า น่าจะมากกว่านี้อีกเยอะ เพราะมาตรการล็อคดาวน์ทั่วประเทศ ส่งผลให้มีการลอยแพ เลิกจ้าง ลดเวลาทำงาน บางส่วนถูกไล่ให้กลับไปทำงานที่บ้าน แต่เรียกให้เก๋ว่า Work from home แลกกับลดเงินเดือน

สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคนจนเมืองทั้งผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จนเกิดเหตุ “ฆ่าตัวตาย” หลายราย ซึ่งก็ยังมีต่อเนื่องมาถึงปี 2564 ที่เกิดการระบาดระลอกสอง

ผลการสำรวจในระดับครัวเรือนพบว่ามี “ครัวเรือนยากจน” ในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.31 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.04% ของครัวเรือนทั้งหมด แต่โควิด-19 ที่มาในปี 2563 ส่งผลให้ครัวเรือนไทยที่มีความเปราะบางจะกลายเป็นครัวเรือนยากจนอีก 1.14 ล้านครัวเรือน

ข้อมูลปลายปี 2563 บอกว่า โควิด-19 ทำให้คนไทยมีรายจ่ายเพิ่ม 33% รายได้ลด 54% คนจนเมือง 60.24% รายได้ลดลงเกือบหมด อีก 31.21% รายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง แรงงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่างงาน 2 ล้านคน  บัณฑิตจนใหม่ปี 2564 อาจว่างงานถาวร 5 แสนคน

ถ้าเอาข้อมูลทั้งหลายมารวมกัน ถ่วงกับความรู้สึกและประสบการณ์จริงของประชาชนคนไทยในช่วง 2-3 ปีนี้  เชื่อว่า ตัวเลขคนยากจนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ถ้าไม่ถูกวิชามารของนักการเมืองกดเอาไว้ 

ถามว่า นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ยึดเอา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “คนเป็นศูนย์กลางพัฒนา” ซึ่งฟังดูสวยหรู แต่กับวิธีการอัดฉีดเงินเป็นแสนล้านเพื่อแจกเงินเยียวยา พักหนี้ ยืดหนี้ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นการตอบโจทย์แก้ปัญหาที่ตรงจุด และทำให้คนจนก้าวพ้นเส้นความยากจนหรือไม่   

นโยบายประชารัฐของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันบอกว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Leaving no one Behind” ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจว่า พวกเขาจะลากพาคนจนให้อยู่เคียงคู่สังคมไทยไปอย่างนี้ตลอดกาล

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...