ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
คมนาคมยันพร้อมลงทุน 6 หมื่นล้าน 3 โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ
25 มี.ค. 2564

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้มีการรายงานความเห็นเสนอให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ไปดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในด้านการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ก่อน โดยการเสนอแนะความเห็นให้ ครม. พิจารณาของ ป.ป.ช.นั้น ถือเป็นอำนาจตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกครั้งของสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระยะเวลา 30 วัน ซึ่งคาดว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายใน เม.ย. 2564 จากนั้น จะนำผลการตรวจสอบของ IATA และ ICAO เสนอไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และตอบความคิดเห็นกลับมายังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอไปให้ ครม. พิจารณาต่อไป 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในเรื่องดังกล่าวนั้น ได้มีการประชุมหารือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการพัฒนา ทสภ.โดยก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทิศตะวันตก (West Expansion) และทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 

ทั้งนี้ ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้ง 3 ทิศดังกล่าว ตามที่กระทรวงคมนาคมพิจารณานั้น เนื่องจากในปัจจุบัน ทสภ.มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารไม่เพียงพอ หรือสามารถรองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง(satellite) สามารถรองรับเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปี สอดรับกับสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันมีผู้โดยสารเดินทางกว่า 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 90 ล้านคนปี และเมื่อรวมกับด้านทิศเหนือ จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี โดยการดำเนินการทั้ง 3 โครงการนั้น มีวงเงินรวมทั้งหมดกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.ก็มีความพร้อมในการลงทุน และมีรายได้จากการดำเนินการมาชดเชยงบประมาณปกติที่ได้ลงทุนไป 

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำแนะนำว่า ในเมื่อดำเนินการพัฒนาฯ แล้วก็ให้ช่วยบูรณาการการบริหาร เพราะยังมีทั้งอู่ตะเภา ดอนเมือง ซึ่งจริงๆ กระทรวงคมนาคมไม่ได้ทำแค่อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง แต่ทำสนามบินที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย เรื่องนี้มีอยู่ในแผนทั้งหมด รวมถึงต้องมีการบริหารเรื่องตารางเที่ยวบินด้วย ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมได้เร่งการดำเนินการทั้ง 3 ส่วนต่อขยาย ประกอบกับช่วงเวลานี้ เกิดสถานการณ์โควิด-19 และควรดำเนินการเพื่อรองรับการเดินทางที่จะกลับมาในอนาคต อีกทั้ง ตามแผนงานนั้น การก่อสร้างอาคารทั้ง 3 ส่วนต่อขยาย จะแล้วเสร็จระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งในการดำเนินการในแผนจะมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารฝั่งตะวันออกก่อนอยู่แล้ว” นายศักดิ์สยาม กล่าว 

รายงานข่าวจาก ทอท. ระบุว่า ตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรรภูมินั้น ประกอบด้วย 1.อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร 2.อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (West Expansion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร และ 3.โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปีและขยายได้ถึง 40 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 41,260 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 348,000 ตารางเมตร 

นอกจากนี้ ทาง ทอท.ยังได้มีการพัฒนารันเวย์ 3 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี จาก 60 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามเมื่อขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ทอท.ก็จำเป็นต้องสร้างอาคารรองรับ เนื่องจากขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรภูมิในขณะนี้จะรองรับได้เพียง 60 ล้านคนต่อปี จากอาคารผู้โดยสารหลัก 45 ล้านคนต่อปี และอาคารเทียบเครื่องบินรอง(satellite) ที่จะเปิดให้บริการในปีหน้า รองรับเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปี 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...