ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
กฎหมายใหม่ที่เป็นเรื่องสำคัญของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ
01 เม.ย. 2564

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

กฎหมายใหม่ที่เป็นเรื่องสำคัญของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ขณะเขียนตอนนี้ก็คงทราบผลการเลือกตั้งเทศบาลทั้ง 3 ประเภทอีกร่วม 2 พันแห่ง ซึ่งก็ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับเลือกตั้งจะเป็นผู้บริหารหรือสมาชิกก็ตาม ขอให้ทุกท่านทำงานเต็มกำลังความสามารถช่วยจรรโลงท้องถิ่นให้ได้รับความเชื่อถือต่อไปครับ

มาตอนนี้ยังไม่เข้ากระบวนการไต่สวนอีก เพราะมีกฎหมายใหม่ที่เป็นเรื่องสำคัญของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่ใช่นักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในตำแหน่งต่างๆ อีกมากเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 130  ที่ว่า ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนอกจากบรรดาตำแหน่งที่กำหนดให้ยื่นไว้ก่อนแล้ว ต้องยื่นภายในห้วงเวลา จะมีอยู่ 2 ร่างขณะนี้คือ ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชืทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการยื่นและการเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

แต่ร่างกฎหมายยังไม่ผ่านสภาครับ ซึ่งเมื่อเข้าสภาไปแล้วจะแก้ไขปรับปรุงเพิ่มลดตัดทอนอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมจะเล่าโดยสรุปเนื้อหาสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยทั่วไปของร่างนี้ก่อนนะครับ ถ้าดูตามร่างกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการยื่นและการเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องยื่นให้ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น ถ้าผู้ยื่นอยู่หลายตำแหน่งก็ให้ยื่นตำแหน่งที่ทำประจำตำแหน่งเดียว

ในการยื่นผู้ยื่นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในต่างประเทศ และทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมตามที่มีอยู่จริง ทั้งในวันที่เข้ารับและพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุก 5 ปี ตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่ง ส่วนกำหนดเวลาก็เช่นเดียวกับการยื่นตำแหน่งอื่นๆ คือภายใน 60 วัน เมื่อเข้าและเมื่อพ้นรวมถึงทุก 5 ปีที่ยังดำรงตำแหน่ง ถ้าหากยื่นไม่ทันกำหนดเวลาก็อาจขอขยายเวลายื่นต่อหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดก็ได้ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับอนุญาต หรือกรณีที่ยื่นแล้วไม่ถูกต้องหรือยังขาดอยู่ก็อาจขออนุญาตหัวหน้าส่วนราชการยื่นเพิ่มเติมหรือแก้ไขได้ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับอนุญาตก็ได้อีก

ฉะนั้นน้องๆ ฝ่ายข้าราชการประจำก็ไม่ต้องกังวลนะครับ เพียงแต่ทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ก็เท่านั้น ยังมีอีกกรณีถ้าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นต่อมาเกิดไปอยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งก็คือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช.ก่อนแล้ว ให้ต้นสังกัดส่งรายการทรัพย์สินและหนี้สินผู้นั้นให้ ป.ป.ช.ภายใน 3 เดือน นับแต่ผู้นั้นไปรับตำแหน่ง ถ้าเป็นกรณีผู้นั้นย้ายไปอยู่หน่วยงานใหม่ ให้ต้นสังกัดส่งมอบบัญชีทรัพย์สินให้หน่วยงานใหม่ภายใน 3 ดือนเช่นกัน หรือถ้าเป็นกรณีที่ ป.ป.ช.ร้องขอ ก็ให้ต้นสังกัดดำเนินการภายใน 30 วัน

ส่วนหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ต้องยื่นจะทำยังไงต่อนั้น ในร่างกฎหมายนี้กำหนดให้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายชื่อผู้มีหน้าที่ยื่น แจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องยื่นทราบเมื่อครบระยะเวลาการยื่น และรายงานผลการยื่นของผู้ยื่นให้หัวหน้าหน่วยงานทราบ ทั้งยังต้องทำหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลบัญชีไว้ที่ระบบบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งต้องแต่งตั้งผู้ดูแลระบบเพื่อทำหน้าที่จัดการข้อมูล ส่วนหัวหน้าหน่วยงานนั้น เมื่อได้รับบัญชีของเจ้าหน้าที่แล้วก็ต้องลงลายมือชื่อกำกับหน้าซองและเก็บเอกสารไว้ที่หน่วยงาน เอกสารเขาถือเป็นความลับในราชการจะเปิดเผยไม่ได้เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่นนะครับ หมายถึงว่า ถ้าผู้ใดเปิดหรือถูกเปิดเผยโดยเหตุไม่ชอบอย่างไรขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบกันไป เอกสารบัญชีที่เก็บไว้ในหน่วยงานดังกล่าว แม้ผู้ยื่นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว หน่วยงานนั้นๆ ยังต้องเก็บรักษาไว้อีกไม่น้อยกว่า 10 ปี นับแต่ผู้นั้นพ้นหน้าที่ไปแล้วจึงอาจทำลายได้ เห็นมั้ยครับว่า ขั้นตอนถูกกำหนดให้มีการดำเนินการค่อนข้างรัดกุมพอควร จะเอาเป็นการกลั่นแกล้งเปิดเผยเพื่อใช้ประโยชน์ไม่ชอบอย่างไรไม่ได้นะครับ อย่างน้อยหัวหน้าหน่วยงานต้องรับผิดชอบ

ทีนี้ก็อีกฉบับพูดถึงการกำหนดเวลาให้เจ้าหน้าที่แต่ละตำแหน่งที่ต้องยื่นต้องยื่นวันเวลาใดเขาเขียนด้วย ซึ่งเท่าที่กำหนดเวลาไว้ในร่างน่าจะต้องกำหนดใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าร่างนี้จะผ่านสภาสูงออกไปประกาศราชกิจจาฯ เร็วช้าเท่าไรครับ  เช่น การกำหนดวัน เวลาให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยงชาญ ทรงคุณวุฒิ ตำรวจยศ พ.ต.ต.-พ.ต.อ.หรือทหาร พ.ต.-พ.อ.หรือเทียบเท่า หรือตำแหน่งต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ไม่มีฐานะและหน้าที่ในการบริหารงาน จำนวน 1 ระดับในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ยื่นตามวันเวลาที่กำหนดในร่างนั้นเอง คือช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. กรมสรรพากร ต้องยื่นวันที่1 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม เป็นต้น และยังมีอีกกลุ่มคือ ประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ตำรวจยศ ร.ต.ท. - ร.ต.อ. ทหาร ยศ ร.ท.-ร.อ. หรือเทียบเท่า หรือตำแหน่งต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ไม่มีฐานะและหน้าที่ในการบริหารงานจำนวน 2 ระดับ ในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ยื่นตามวันเวลาที่กำหนดในร่างนั้น คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565

ข้าราชการพลเรือนสามัญ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 พนักงานรัฐวิสาหกิจ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ข้าราชการและครูกรุงเทพมหานคร ข้าราชการ อบจ.พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล ครูส่วนท้องถิ่น ส่วนข้าราชการประเภทที่ไม่ใช่ที่กล่าวมาสองประเภทข้างต้นคือตำแหน่งต่ำกว่าลงไปอีก ที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ ก็กำหนดไว้เช่นกัน เช่น วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 กำหนดให้ ข้าราชการและครู กทม.ข้าราชการ อบจ.พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล ครูส่วนท้องถิ่น ต้องยื่นครับ ตอนหน้าจะเล่าต่อว่าที่ต้องยื่นมีอะไรยื่นยังไงนะครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...