ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ศ.(วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์
03 พ.ค. 2564

มีคนกล่าวว่า ‘เวชศาสตร์ป้องกัน’ (preventive medicine)หรือมาตรการป้องกันโรค (prophylaxis)

คือศาสตร์แขนงใหม่ที่อาจเปลี่ยนอนาคตวงการแพทย์และคุณภาพชีวิตไปอีกขั้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยโรคภัย อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเราแล้ว เมื่อกล่าวถึงเวชศาสตร์ป้องกัน’ชื่อของนายแพทย์ผู้หนึ่งจะถูกเอ่ยขึ้นตามมาด้วยอย่างไม่ขาด แม้ปัจจุบันจะเกษียณไปแล้วก็ตาม เพราะเป็นแพทย์ผู้ริเริ่มและวางรากฐานพร้อมทั้งต่อยอดงานด้านเวชศาสตร์ป้องกันในประเทศไทยและแพทย์ผู้นั้นก็คือ ศ.(วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ หรือคุณหมอพรเทพ นายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)อดีตอธิบดีกรมใหญ่ถึง 2 กรม คือ กรมควบคุมโรคและกรมอนามัย นั่นเอง

            หนังสือพิมพ์อปท.นิวส์ได้รับเกียรติจากคุณหมอเป็นแขกรับเชิญในฉบับนี้ โดยคุณหมอพรเทพ เริ่มเล่าชีวิตในวัยเด็กให้ฟังว่า เป็นคนจังหวัดสุโขทัย อยู่ในเมือง จำความได้ว่าตอนเด็กๆนั้นลำบากมาก เพราะพ่อแม่มีลูกมากถึง9คน ตอนนี้เหลือ7คน โดยพี่ชายคนโตเสียชีวิตจากไตวาย และพี่สาวอีกคนก็เสียชีวิต พ่อกับแม่เป็นคนจีนมาจากเมืองจีน มาตั้งรกรากกันที่สุโขทัยช่วงวัยเด็กต้องช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวไปด้วย จำได้ว่าแม่เป็นมะเร็งปากมดลูก สงสารแม่ อยากรักษาให้หายความคิดเด็กช่วงประถมก็อยากเป็นหมอแล้ว เพราะสงสารแม่

“มีคนบอกว่าต้องไปรักษาที่ศิริราชจะดี แถวๆบางลำพู แต่อยู่ไกลถึงกรุงเทพฯ จำใจต้องเดินทางไปมากรุงเทพฯ - พิษณุโลก นั่งรถไฟสมัยก่อนลำบาก แต่ในที่สุดหมอก็รักษาแม่หายแต่ก็เหนื่อยกันทั้งบ้าน ผมเองก็ยังเด็กอยู่ มาประดังเหตุการณ์อีกครั้ง คือเกิดไฟไหม้ใหญ่ที่สุโขทัยประมาณน่าจะปี2512อยู่ในช่วงที่ลำบากมาก ในช่วงที่เรียนชั้นประถมต้องหาเงินเองโดยจะหาของไปเร่ขายก่อนไปโรงเรียน มีหลายอย่างแต่ที่ฮิตคือผงชูรสจะเดินเร่ขายทุกวันก่อนเข้าโรงเรียน แต่ผมไม่ทิ้งการเรียนเพราะตั้งใจว่าต้องเรียนเป็นหมอให้ได้ตามความฝัน”

คุณหมอพรเทพ เล่าให้ฟังต่อว่า ช่วงเรียนอยู่ม.1 (มัธยมศึกษาปีที่ 1) คุณหมอสอบได้คะแนนสูงสุดในเขตพื้นที่การศึกษา คือได้อันดับหนึ่ง ตื่นเต้นมากเพราะมีการประกาศของทางโรงเรียน และที่สำคัญคุณหมอต้องเดินทางมารับรางวัลที่1 ที่กรุงเทพมหานคร รับจากมือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่สนามศุภชลาศัย ซึ่งคุณหมอบอกว่า ดีใจสุดๆเพราะไม่คิดว่าจะได้มาอยู่ตรงนี้ กลายเป็นนักเรียนเรียนดี เรียนเก่ง ครูชื่นชมกันทั้งโรงเรียน ครอบครัวเองก็ดีใจ เรียนในระดับมัธยม1ถึงมัธยม 3 ที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม ได้ที่1มาตลอด และก็ตั้งใจจะเป็นหมอให้ได้

คุณหมอพรเทพ เล่าด้วยว่ามีมีช่วงเปลี่ยนของชีวิตอีกครั้งคือต้องจากบ้านมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ก็บังเอิญมีคุณหมอท่านหนึ่ง ตอนไปขอใบรับรองแพทย์เพื่อจะเรียนต่อเข้ามัธยมปลาย หมอท่านนี้ใจดีมากจัดการให้เสร็จทุกอย่าง ทั้งใบรับรองแพทย์ ทั้งแนะนำสถาบันกวดวิชา และบอกว่าหากจะสอบเข้าเป็นหมอต้องไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมที่กรุงเทพฯ เรียนที่นี่อาจจะพลาดคณะแพทย์ได้เพราะต่างจังหวัดโอกาสของเด็กยังห่างไกล ในที่สุดคุณหมอก็บอกกับทางบ้านว่าต้องไปเรียนที่กรุงเทพฯ จำได้ในโรงเรียนรุ่นคุณหมอที่ได้มาเรียนที่เตรียมอุดมมีเพียง2คน อีกคนเป็นผู้หญิง แต่เธอเลือกเรียนด้านบัญชี

“ในที่สุดผมฝันเป็นจริงสอบติดคณะแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียนแพทย์อยู่6ปี จบไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ที่เลือกที่นี่เพราะจะได้กลับไปเยี่ยมบ้านสุโขทัยด้วย หลังจากนั้นไปอยู่โรงพยาบาลวังทอง สมัยนั้นยุคคอมมิวนิสต์เข้าป่าด้วย แล้ววังทองเป็นศูนย์ที่จะบริการประชาชนทั้งในเขตอำเภอเนินมะปราง อำเภอนครไทย แล้วผมเองเป็นหมอรักษาคนไข้ไปด้วย เป็นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลไปด้วย ประชากรรวมๆแล้วน่าจะราว1แสนคนได้ใน3อำเภอสมัยก่อน ทำงานกันตลอด24ชั่วโมง พยาบาล3คน ผู้ช่วยอีก7-8คน แล้วช่วงนั้นโรคมาลาเรียระบาดหนักปี2524-2525 มีชาวบ้านที่เข้าป่าออกมาจากป่าแถบเขาค้อตลอดมาถึงวังทอง ทุกคนเจาะเลือด30รายพบร้อยทั้งร้อยเป็นไข้เลือดออกกับมาลาเรีย เพราะเมื่อก่อนบริเวณนี้ป่าเขาทั้งนั้นพิษณุโลกยาวไปเพชรบูรณ์ ช่วงหลังมีหมอมาเพิ่ม1คน ผมทำงานอยู่ที่นี่ประมาณ4ปี”

คุณหมอเล่าถึงจุดเริ่มต้นสู่เวชศาสตร์ป้องกันว่า ตอนนั้นคิดจะเรียนต่อด้านโรคเฉพาะทางแต่เนื่องจากมีกันเยอะแล้วและแข่งขันกันหนักด้วย และพอดีมีรุ่นพี่ได้เซ็ตในด้านระบาดวิทยาและเวชศาสตร์ป้องกัน โดยจะต้องเรียน3ปี คุณหมอก็เลือกเรียนต่อด้านนี้ โดยถือเป็นรุ่นแรกของประเทศด้านเวชศาสต์ป้องกัน โดยช่วงนั้นมีทุนของรอกกี้เฟลเลอร์ให้ไปเรียนที่ต่างประเทศ แต่อดีตปลัดกระทรวงสมศักดิ์ วรคามิน บอกให้ช่วยงาน ก็ไปช่วยอยู่2ปี พอมาถึงยุคหมออุทัย สุดสุข เป็นปลัดกระทรวงฯคุณหมอจึงมีโอกาสไปไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยลอนดอน โดยไปเรียนทางด้านวางแผนการเงินการคลัง แต่เป็นทุนขององค์การอนามัยโลกกับทุนของประกันสังคม

ส่วนชีวิตรับราชการก็ไต่เต้าขึ้นตามลำดับอายุหนุ่มราว35ปี นั่งเป็นหัวหน้าสำนักงาน เป็นสาธารณสุขจังหวัดไกลที่สตูล กลับมานั่งที่สำนักนโยบายและแผน เป็นรองอธิบดีอยู่5ปี ขึ้นนั่งอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมอนามัย รองปลัดกระทรวง

“ผมบอกเลยว่างานเวชศาสตร์ป้องกันมีความสำคัญมาก เมื่อก่อนไม่มีใครคิดและเรียนด้านนี้กันไปเน้นโรคเฉพาะทางทั้งนั้น แต่สาขาเวชศาสตร์ป้องกันเป็นเรื่องของต้นน้ำที่จะสร้างสุขภาวะของประชาชนว่าจะเป็นโรคหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ผมสนใจงานโภชนาการ งานป้องกันโรคให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรค ตรงนี้ต้องตื่นตัวกันมากขึ้นผมเองมีส่วนกระตุ้น สร้างจิตสำนึกให้คนไทยมาต่อเนื่อง”

“ผมขอยกตัวอย่างเรื่องของกล้วยที่ผมจุดประกายให้คนไทยกินกล้วย เพราะอะไรเป็นพืชมหัศจรรย์ ป้องกันมะเร็ง สร้างภูมิต้านทาน สมัยก่อนแม่จะบดกล้วยให้ลูกกินหรือบดกล้วยกับข้าว เพราะผลวิจัยออกมาแล้วว่ากล้วยเหมือนน้ำนมแม่ เด็กเติบโต มีภูมิต้านทาน น้ำหนักตัวดี สร้างเอ็นโดฟินจะอารมณ์ดี หลับสบาย ระบายท้อง ล้างท้อง แป้งมีน้อยมาก กินกล้วย4ลูกช่วยลดน้ำตาลในกระแสเลือดหรือลดกรด ลดโรคเบาหวาน สมานแผลในกระเพาะอาหาร สังเกตคนเวียดนามที่กินแหนมเนืองจะมีส่วนผสมผักดิบแล้วก็กล้วยดิบด้วย”

คุณหมอพรเทพ บอกต่อว่า มีอีกเรื่องที่คุณหมอได้ทำไว้คือสมัยอยู่กรมอนามัยจะเน้นโภชนาการที่จำได้ง่ายให้ทุกคนนำไปปฏิบัติได้ในทุกๆสถานที่ คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ซึ่งทุกวันนี้เด็กๆหรือทุกคนจำกันได้หมด ซึ่งถ้าทุกคนยึดหลักง่ายๆเหล่านี้ซึ่งก็คือพื้นฐานของเวชศาสตร์ป้องกันแต่ทุกคนลืมนึกถึงต้นน้ำของการเจ็บป่วย แล้วช่วงที่คุณหมอต้องมาทำงานที่สภากรุงเทพมหานคร ก็เน้นงานด้านนี้มากขึ้น มีทั้งเรื่องภาวะการณ์ทำงาน ส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน เรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่อยู่ในเวชศาสตร์ป้องกันทั้งสิ้น

“สิ่งที่หนึ่งที่ภูมิใจคืองานรณรงค์ป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะฉีดวัคซีนให้คนทั้งกรุงเทพฯ เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจที่เห็นแม่เป็นมะเร็งปากมดลูกสมัยเรายังเด็ก และยังมีวัคซีนท้องเสียเรียกว่าโรต้า และกำลังจะทำเรื่องวัคซีนปอดบวมเด็กเล็กเพราะแนวโน้มเป็นกันมาก”

คุณหมอพรเทพ ให้ความรู้ถึงเชื้อร้ายโควิด-19 ด้วยว่าจะป้องกันอย่างไรเพราะเป็นไวรัสที่กลายพันธ์ เป็นโรคอุบัติใหม่จะสังเกต10ปีเกิดครั้ง ก่อนนี้เกิดไข้หวัดใหญ่ แล้วมาเป็นโรคซาร์ไข้หวัดนก สมัยก่อน100กว่าปีก็มี ที่สเปนไข้หวัดใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 4 อหิวาตกโรคก็เกิด การป้องกันจะแนะนำไว้หลักๆคือ พูดคุยต้องระยะห่างอย่างน้อย1เมตร ใส่หน้ากากอนามัย ห้ามไปในที่อโคจร ที่ผู้คนแออัดถ้าจำเป็นต้องเน้นหน้ากาก และล้างมือด้วยเจลฆ่าเชื้อ

ส่วนที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ก็ถูกทางแล้ว แต่เรื่องวัคซีนที่จะเป็นพระเอกนั้น ทราบว่าเดือนมิถุนายนจะทยอยมาครั้งละ10ล้านโดส ซึ่งเราผลิตเองโดยพระองค์ท่านรัชการที่ 9ได้ริเริ่มไว้ แต่ต้องส่งให้อังกฤษตรวจสอบก่อน ที่ต้องกักตัว14วัน มันมีที่มาก็คือที่เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี มีการกักตัวคนที่เป็นโรคไว้15วัน หากไม่ตายก็เข้าเมืองได้ ที่เราใช้คำ ควอรันไทม์ แปลว่า15วัน

“ผมจะบอกว่านักเวชศาสตร์ป้องกันทุกแขนงมาระดมช่วยงานโควิด-19กันทุกวัน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในระดับโรงพยาบาลอำเภอก็มีนักเวชศาสตร์ป้องกัน สาขาเวชศาสตร์ป้องกันจะมีมากถึง9แขนง ซึ่งสำคัญทั้งสิ้น แต่บุคลากรแต่ละแขนงจะพยายามสร้างให้มากขึ้นเพื่อรองรับกับโรคใหม่ๆ และการเจ็บป่วยที่จะต้องใช้เวชศาสตร์หลายสาขาเข้าไปฟื้นฟู เช่น อาชีวะเวชศาสตร์ ระบาดวิทยาคลินิก เวชศาสตร์ทางทะเล เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม สุขภาพจิตชุมชน เวชศาสตร์จราจร เป็นต้น ต้องเรียนกัน3ปีถึงจะได้วุฒิบัตรในแต่ละแขนง และอนาคตจะมีความสำคัญมาก”

ส่วนความภูมิใจในชีวิตที่ไม่ลืมคือสมัยมัธยมศึกษาปีที่ 1ที่ได้รับรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ส่วนในช่วงรับราชการก็มีหลายเรื่องที่ได้จุดประกายไว้ เช่น ริเริ่มงานเวชศาสตร์ป้องกันและระบาดวิทยาในประเทศไทย เริ่มการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก อหิวาตกโรค มะเร็งปากมดลูก ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้คนทั้งประเทศลดการสูญเสียชีวิตได้จำนวนมาก รณรงค์เรื่อง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สร้างจิตสำนึกในเรื่องโภชนาการและการออกกำลังกายให้กับคนในประเทศ อย่างเช่นกินกล้วย

“เกษียนมา6ปีแล้วแต่ยังทำงานอีกหลายอย่างถือเป็นความสุขของเรา ตอนนี้ใส่หมวกหลายใบ แต่ผมทำงานเต็มที่ นอกจากงานที่สภากรุงเทพมหานครแล้ว ทำงานด้านรายการสุขภาพที่รู้จักดีคือคนสู้โรค ได้รับรางวัลดีเด่นมาก็มาก ยังได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมิน ซึ่งจะเป็นจุดเด่นคือจะสร้างแพทย์ด้านเวชศาสตร์ป้องกันให้มากขึ้น และยังเป็นประธานสภามหาวิทยาลัยเนชั่นที่จังหวัดลำปางอีกด้วย ซึ่งกำลังพัฒนาด้านแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์และสาธารณสุข”คุณหมอพรเทพ กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...