ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
เร่งปรับพื้นที่บริเวณไม้จันทน์หอม ต้นที่ 15
11 พ.ย. 2559

          เร่งปรับพื้นที่บริเวณไม้จันทน์หอม ต้นที่ 15 ทางกองพระราชพิธี และโหรพราหมณ์สำนักพระราชวัง คัดเลือกเป็นจุดบวงสรวงในพิธีตัดต้นไม้จันทน์หอม ไม้มงคลชั้นสูงเป็นปฐมฤกษ์ เพื่อใช้จัดสร้าง “พระบรมโกศ” ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง ร.๙” โดยใช้ฤกษ์ 14.09 น. วันที่ 14 พ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยต้นไม้จันทน์หอมทั้ง 4 ต้น ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นต้นไม้ที่ยืนต้นตายตามธรรมชาติ มีกลิ่นหอม ลักษณะต้นไม้เปลาตรง ขนาดความโตตั้งแต่ 142 ซม.ไปจนถึง 203 ซม.และมีความสูงตั้งแต่ 11-15 เมตร

          นายนิธิ อาจมรรถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้สั่งการให้ นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เร่งปรับพื้นที่บริเวณต้นไม้จันทน์หอม ลำดับต้นที่ 10, 11, 14 และต้นที่ 15 รวม 4 ต้น ภายในบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ด้านหลังของที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี

          ภายหลังจากที่ นายจำลอง ยิ่งนึก ผู้อำนวยการกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และนายฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ นายสมชาย บำรุงทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายชาตรี จันทร์วีระชัย น่ายอำเภอกุยบุรี และเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ตลอดจนหน่วยงานเกี่ยวข้องได้สำรวจ และคัดเลือกต้นไม้จันทน์หอม จาก 19 ต้น เหลือเพียง 4 ต้น เมื่อ 3 วันที่ผ่านมาแล้วนั้น เพื่อใช้จัดสร้างพระบรมโกศ ตกแต่งพระเมรุมาศ และทำดอกไม้จันทน์ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          พร้อมเลือกพื้นที่บริเวณต้นไม้จันทน์หอม ลำดับต้นที่ 15 ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบวงสรวงตัดต้นไม้จันทน์หอมทั้ง 4 ต้น ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 โดยใช้ฤกษ์เวลา 14.09-14.39 น.

          โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เร่งดำเนินการปรับพื้นที่บริเวณโดยรอบต้นไม้จันทน์หอมต้นที่ 15 เพื่อใช้เป็นมณฑลพิธีบวงสรวง และตัดต้นไม้จันทน์หอม โดยเฉพาะจุดด้านหน้าพื้นที่ราบ จะมีการตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวง ตลอดจนเครื่องสังเวยต่างๆ รวมทั้งทำบันไดไม้ชั่วคราวขึ้นไปยังต้นไม้จันทน์หอม ต้นที่ 15 เพื่อให้ นายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการ ซึ่งจะเดินทางมาประกอบพิธีในวันดังกล่าว โดยจะมีการหลั่งน้ำเทพมนต์ เจิมบริเวณต้นไม้จันทน์หอม และลงขวานทองที่ต้นไม้จันทน์หอม ต้นที่ 15 เป็นปฐมฤกษ์ พร้อมโปรยข้าวตอกดอกไม้รอบบริเวณต้นไม้จันทน์หอม และจึงดำเนินการตัดต้นไม้จันทน์หอมที่เหลืออีก 3 ต้น พร้อมๆ กัน

          นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ยังต้องปรับพื้นที่เพื่อที่จะรองรับหน่วยงานราชการต่างๆ ตลอดจนประชาชนที่จะมาร่วมประกอบพิธีบวงสรวงตัดต้นไม้จันทน์หอมในครั้งนี้ด้วย

          ขณะเดียวกัน นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่สางเถาวัลย์ และไม้เล็กบางส่วนที่ขึ้นปกคลุมบริเวณต้นไม้จันทน์หอมต้นที่ 10, 11, 14 ด้วย เนื่องจากทั้ง 3 ต้น จะต้องดำเนินการตัดต้นไม้จันทน์หอมให้เสร็จสิ้นในช่วงเวลาที่กำหนดเช่นกัน ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้านี้ การปรับพื้นที่ทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ต่างพร้อมใจดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่การตัด การแปรรูป การลำเลียงขึ้นรถไปส่งมอบจนเสร็จสิ้นให้ลุล่วงเพื่อแสดงความอาลัย และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจ ได้พบไม้จันทน์หอมยืนต้นตายตามธรรมชาติ บริเวณป่าดิบแล้งเส้นทางศึกษาธรรมชาติหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หมู่ 9 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไว้ 4 ต้น จาก 19 ต้น โดยต้นที่ 14 มีขนาดความโต 203 เซนติเมตร สูง 15 เมตร ปริมาตร 4.92 ลูกบาศก์เมตร ต้นที่ 11 มีขนาดความโต 178 เซนติเมตร สูง 11 เมตร ปริมาตร 2.77 ลูกบาศก์เมตร ต้นที่ 10 มีขนาดความโต 175 เซนติเมตร สูง 14 เมตร ปริมาตร 3.41 ลูกบาศก์เมตร และต้นที่ 15 มีขนาดความโต 142 เซนติเมตร สูง 15 เมตร ปริมาตร 2.09 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้ง 4 ต้น เนื้อไม้มีกลิ่นหอมปานกลาง และมีลักษณะไม้เปลาตรงกลม

          โดยขณะนี้ นายธัญญา เนติธรรม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุมัติการตัด และแปรรูปไม้จันทน์หอมแล้ว โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมการแปรรูปไม้ 3 ราย ประกอบด้วย นายวัฒนา พรประเสริฐ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ประธานคณะกรรมการ นายธีระ เต็มองค์หล้า นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ เป็นกรรมการ และนายพีรวัฒิ สิโรตม์พิพัฒ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ เป็นกรรมการและเลขานุการ หลังจากดำเนินการแปรรูปไม้เสร็จแล้วจะดำเนินการส่งมอบไม้จันทน์หอมทั้งหมดให้แก่สำนักพระราชวัง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

          อนึ่ง ความสำคัญสำหรับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการตัดต้นไม้จันทน์หอมไปใช้ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ ทั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และครั้งนี้ไปใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          สำหรับไม้จันทน์หอม จัดเป็นไม้หายาก มีค่ามีอยู่ในภูมิภาคแถบนี้เท่านั้น ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นไม้โตช้า ลำต้นไม่ใหญ่มากนัก คนโบราณจัดว่า “ไม้จันทน์หอม” จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูงที่มีกลิ่นหอมในทุกส่วนของลำต้น ไม่ว่าจะเป็นแก่น เปลือก กระพี้ เหตุเพราะไม้จันทน์หอม มีความหอมไม่ว่าจะเป็น หรือตาย จึงเปรียบเหมือนคนเมื่อเกิดมาทำความดี ตายแล้วก็ยังมีความดีอยู่ คนโบราณจึงนำไม้จันทน์หอมมาเผาศพเรียกว่า “ดอกไม้จันทน์” จนถึงปัจจุบันนี้

          สำหรับไม้จันทน์หอม ซึ่งใช้ในงานพระราชพิธีนับแต่สมัยพุทธกาล และพบประวัติการใช้ไม้จันทน์หอมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยที่ผ่านมา มีการนำมาสร้างพระโกศ และพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพตราบถึงปัจจุบันนี้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...