ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
ร่างกฎหมายใหม่การยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
18 พ.ค. 2564

เขียนให้คิด โดย ซีศูนย์

ร่างกฎหมายใหม่การยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ไปๆ มาๆ เจ้าโควิท-19 ปาเข้าช่วงปีที่ 2 แล้ว แต่ที่น่ากลัวคือ มันกลายเป็นระยะที่ 3 เหมือนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้ว่าบ้านเราจะมีผู้ติดเชื้อและตายไม่มากเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าอินเดีย บราซิล อเมริกา ก็ตาม แต่ก็ประมาทไม่ได้นะครับ

มาว่าเรื่องร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่กำลังจะออกมาใช้กับเจ้าหน้าที่ทั่วไปต่อนะครับ หลายท่านคงสงสัยว่า ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันท์สามี-ภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสคือใครบ้าง ซึ่งก็เคยบอกกล่าวกันในเรื่องการไต่สวนมาแล้ว แต่เพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น ก็จะมาทวนกันในคราวนี้อีกสักครั้งครับ

ตามร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสามีหรือภริยาที่อยู่กินกันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่ต้องยื่นบัญชีไว้ 3 ประเภท คือ 1. ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นสามี-ภริยากันตามประเพณี  2. เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว 3. บุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ และต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่า มีสถานะเป็นสามีหรือภริยากัน

ประเภทแรกนั้น ถ้าได้ทำพิธีสมรสกันโดยภริยาตัวจริงไม่รู้ หรืออาจจะภริยาถึงแก่กรรม ต่อมามีคนคบค้าสมาคมอยู่ด้วย ได้ทำพิธีที่เป็นที่รับรู้กันกัน เช่น มอบสินสอดให้ ทำบุญเลี้ยงพระเพื่อแสดงว่าสมรสกัน หรือสู่ขอกันแต่ไม่ได้จัดเลี้ยงกัน โดยคนในครอบครัวอาจเป็นญาติฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือคนภายนอกเพื่อนฝูงรับรู้รับทราบว่าอยู่กินกันตามประเพณี นี่ยกตัวอย่างพอทำเนานะครับ ไอ้ที่ว่าจะทำอย่างอื่นอย่างไรตามความหมายในข้อ 1 คงมีอีกมาก

ส่วนประเภทที่ 2 มีการอยู่กินกันโดยเปิดเผย สังคมรับรู้กันทั่วไปว่าเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ทำธุรกิจถือบัญชีเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกัน ซึ่งคนทั่วไปรู้ว่าเป็นสามีหรือภริยา เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องยื่นเช่นนี้ ก็ต้องให้ยื่นด้วยนะครับ ส่วนประเภทที่ 3 นี่ พบกันบ่อยในการยื่นบัญชีของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะท้องถิ่น คือก่อนนั้นมีการจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ และต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสามีหรือภริยากัน เช่น หย่ากันแล้วแต่ยังอยู่บ้านเดียวกัน หรือยังมีการทำธุรกรรมอันเสมือนคนคนเดียวกันเช่นนี้ ทางที่ดีควรจะยื่นเสียด้วยนะครับ หาไม่แล้วจะถูกหาว่าจงใจปกปิดข้อเท็จจริงที่ต้องแจ้งมีสิทธิพ้นหน้าที่ราชการและโดนทั้งวินัยอาญาได้ และถ้ามีคู่สมรสมากกว่าหนึ่งคน ผู้ยื่นบัญชีสามารถจัดทำข้อมูลคู่สมรสเป็นใบแทรกให้ครบทุกคนได้อันนี้เผื่อไว้นะครับ ก็ต้องให้ครบทุกคนเช่นกันครับ ท่านผู้อ่านที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกที่ต้องยื่นก็ต้องถือปฎิบัติเช่นกันนะครับ

ส่วนอีกคนที่เกี่ยวข้อง คือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของเจ้าหน้าที่ของรัฐคนนั้น ซึ่งตามร่างกฎหมายนี้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงประเภทแรก บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เว้นแต่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ประเภทที่ 2 บุตรที่เกิดจากบิดามารดาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสที่มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่บิดาได้แสดงออกหรือรับรองโดยอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา ดูแลรักษาพยาบาล แสดงออกต่อสังคมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมว่าเป็นบุตรของตน เว้นแต่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส บุตรตามประเภทแรกคงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ยังอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ที่เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องยื่น เว้นแต่บุตรคนนั้นแต่งงานไปก่อนอายุครบยี่สิบแล้ว ก็ถือว่าไม่ต้องยื่น ส่วนอีกประเภทที่หลายคนอาจไม่ทราบ แม้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่กฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดให้ยื่นก็เคยตกหล่นอยู่บ่อย คือเป็นบุตรนอกสมรส แต่บิดาได้แสดงออกให้เป็นที่ทราบทั่วไปว่าเป็นลูกของตน หรือรับรองโดยอุปการะเลี้ยงดูให้เรียนหนังสือ เมื่อเจ็บป่วยก็ดูแลรักษาอันเป็นการให้สังคมรับทราบกันไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมว่า เป็นลูกของผู้ยื่นนั้น และเช่นกันถ้าเด็กคนนั้นแต่งงานไปก่อนยี่สิบปีก็ไม่ต้องยื่น

นอกจากนั้นแล้ว ตามแบบแสดงรายการยื่นบัญชีเองก็ได้อธิบายให้ทราบค่อนข้างละเอียดว่า อะไรบ้างที่ต้องแนบประกอบการยื่น เช่น ข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ก็คือแบบ ภ.ง.ด. 90 หรือ 91  ทั้งผู้ยื่นจะต้องกรอกรายละเอียดของรายรับ รายจ่ายพร้อมเอกสารประกอบ อาทิ รายได้ประจำ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือโบนัส รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ค่าเช่า หรือการขายทรัพย์สิน รายได้จากการรับให้ หรือการรับมรดก รายได้จากการทำเกษตรกรรม เช่น การทำนาทำไร่ ทำสวนผลไม้ หรือเลี้ยงสัตว์ ส่วนรายจ่ายประจำ ได้แก่ ค่าอุปโภคบริโภค ค่าผ่อนที่อยู่อำศัย ผ่อนรถยนต์ รายจ่ายอื่นๆ เช่นค่าเล่าเรียน ค่าอุปการะบิดามารดา ค่าท่องเที่ยว หรือเงินบริจาค 

สำหรับเงินสดต้องยื่นถ้าถืออยู่ตั้งแต่สามแสนบาทขี้นไป และถ้าผู้ต้องยื่นถือครองเงินสดรวมกันตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไปต้องชี้แจงเหตุผลของการถือครองด้วย ส่วนอื่นก็มีเงินฝาก เงินลงทุน เงินให้กู้ยืม บรรดาที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ สิทธิและสัมปทาน ทรัพย์สินอื่น เงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้ในธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์ บรรดาหุ้น การลงทุน สิทธิสัมปทาน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

อ้อ...อีกเรื่องครับ ประเภททรัพย์สินอื่น เช่น อัญมณี เครื่องประดับ ทองคำ ปืน นาฬิกา พระเครื่อง โบราณวัตถุมูลค่ารวมกันตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป หนี้ค้างบัตรเครดิตทุกประเภทรวมกันตั้งแต่ห้าหมื่นบาทขึ้นไป เงินกู้ทุกประเภท จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นที่ค้างชำระ รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ เหนื่อยนะครับที่ต้องยื่นบัญชีเยอะแยะ หากแต่เพราะกฎหมายเขากำหนดให้ยื่นก็ต้องยื่น คงพอเห็นวิธีการยื่นคร่าวๆ ได้แล้วนะครับ พบกันตอนหน้าครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...