ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
วันที่หลักประกันซองมีผลใช้บังคับ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวันประมูล !
18 พ.ค. 2564

ก้าวสู่สังคมธรรมาภิบาลกับศาลปกครอง

โดย ธัญธร ปังประเสริฐ พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง

วันที่หลักประกันซองมีผลใช้บังคับ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวันประมูล !

เป็นที่ทราบดีว่า ... ในการยื่นประมูลโครงการต่าง ๆ ตามประกาศของหน่วยงานราชการ นั้น ผู้ประมูลหรือผู้เสนอราคาจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องและครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ประกาศกำหนดไว้ มิเช่นนั้นแล้ว หน่วยงานของรัฐก็มีสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาซองเสนอราคาได้ อย่างไรก็ตาม หากการไม่รับซองเสนอราคาดังกล่าวหน่วยงานของรัฐกระทำไปโดยไม่ชอบกฎหมาย ผู้เสนอราคาก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เช่นกัน

ดังคดีที่จะคุยกันกับท่านผู้อ่านในวันนี้ ... ซึ่งเป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่รับซองเสนอราคา โดยอ้างเหตุว่า ผู้เสนอราคายื่นเสนอหลักประกันซองเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารโดยมีผลใช้บังคับไม่เป็น ไปตามที่ประกาศกำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังยื่นซองประมูลโดยไม่ได้ปิดผนึกซองอีกด้วย

เรื่องนี้ ... มี “ประเด็นชวนคิด” ที่น่าสนใจในชั้นศาลสูงเกี่ยวกับวันที่หลักประกันซองมีผล ใช้บังคับ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐมีการเปลี่ยนแปลงวันประมูล ว่าจะต้องมีผลในวันตามที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับแรก หรือมีผลในวันที่มีการประมูลซึ่งได้เปลี่ยนแปลงตามประกาศฉบับใหม่

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... อำเภอแห่งหนึ่งได้ออกประกาศเพื่อจัดจ้างโครงการขุดสระพักน้ำดิบและก่อสร้างฝายน้ำล้นโดยการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทซีได้ยื่นซองเสนอราคาทั้งสองโครงการตามวันเวลาที่กำหนด พร้อมกับเอกสารการประมูลต่าง ๆ แต่ต่อมาอำเภอได้มีหนังสือแจ้งว่า บริษัทซีไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากโครงการแรก (สระพักน้ำดิบ) ซองเสนอราคาไม่ปิดผนึก ใบเสนอราคาแผ่นที่ ๒ ไม่มี และผู้รับมอบอำนาจไม่มีสำเนาบัตรแสดงตน และการเสนอราคาตามโครงการที่สอง (ก่อสร้างฝายน้ำล้น) ไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากซองเสนอราคาไม่ปิดผนึกและหนังสือค้ำประกันยืนราคาไม่ครบ ๑๒๐ วัน ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ซึ่งอำเภอได้มีหนังสือแจ้งว่าคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำเนินการได้พิจารณาและปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดที่ระบุในประกาศจัดจ้างทั้งสองโครงการแล้ว

ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับพิจารณาการยื่นซองเสนอราคาของผู้ฟ้องคดีทั้งสองโครงการ และให้อำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และ จังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาว่า แม้เจ้าหน้าที่พัสดุไม่มีหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบเอกสารในซองเสนอราคาว่าครบถ้วนหรือไม่ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ย่อมเห็นโดยชัดแจ้งว่าได้มีการปิดผนึกซองหรือไม่ ซึ่งหากเห็นว่าซองไม่ได้ปิดผนึกก็ชอบที่จะแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการให้ถูกต้อง หรือมีข้อสังเกตเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการประมูล แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ได้มีข้อสังเกตดังกล่าว จึงฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้ปิดผนึกซองเสนอราคาแล้ว แต่การไม่ได้บรรจุใบเสนอราคาแผ่นที่ ๒ และสำเนาบัตรแสดงตนของผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการยื่นซองเสนอการประมูล จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่น

หลักฐานการเสนอราคาไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนตามประกาศในโครงการแรก ส่วนโครงการที่สองนั้น เห็นว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือค้ำประกันยืนราคาครบ ๑๒๐ วัน ตามประกาศแล้ว การไม่รับซองเสนอราคาในโครงการที่สองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้จังหวัดได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในส่วนโครงการที่สอง คือโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น เฉพาะประเด็นที่ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ กันยายน ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน

คำวินิจฉัยชวนรู้

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า อำเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ได้ออกประกาศจัดจ้างโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเสนอราคาจะต้องยื่นเอกสารการประมูลในวันที่ ๙ กันยายน และกำหนดให้ผู้เสนอราคาต้องใช้หลักประกันซองที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน เพื่อให้เอกสารการประมูลมีความสอดคล้องกับเงื่อนไขของประกาศที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอราคาจะต้องยื่นเอกสารประมูลในวันที่ ๙ กันยายน ดังกล่าว

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อำเภอได้มีประกาศแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับแรกในส่วนวันประมูล โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอราคายื่นเอกสารการประมูลในวันที่ ๑๒ กันยายน ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในวันที่ ๙ กันยายน ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศที่แก้ไข ผู้เสนอราคาจะต้องเสนอหลักประกันซองที่มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ ๑๒ กันยายน เป็นอย่างช้า มิใช่ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้าง

การที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นซองเสนอราคาประมูล โดยเสนอหลักประกันซองเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๒ กันยายน ถึงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ปีถัดไป รวมระยะเวลาเกินกว่า ๑๒๐ วัน อันเป็นระยะเวลาตามที่ประกาศกำหนดแล้ว จึงถือเป็นการวางหลักประกันที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประมูลจ้างก่อสร้างฝายน้ำล้นดังกล่าว การที่อำเภอไม่รับพิจารณาซองเสนอราคาของผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยเหตุที่พิพาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๒๔๔/๒๕๖๔)

บทสรุปชวนอ่าน

คดีนี้นับว่าเป็นแนวทางการปฏิบัติราชการที่ดีแก่หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ เกี่ยวกับการพิจารณาวันที่หลักประกันซองมีผลใช้บังคับในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงวันประมูล โดยให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่มีการประมูลเป็นอย่างช้า และยังเป็นอุทาหรณ์แก่บริษัทผู้เสนอราคาที่จะต้องตรวจสอบเอกสารในซองประมูล ให้ครบถ้วนและตรวจตราให้ดีว่าได้ปิดผนึกซองเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เพราะเมื่อเป็นข้อกำหนดที่ต้องดำเนินการตามประกาศ หากดำเนินการไม่ถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หน่วยงานของรัฐก็มีสิทธิไม่รับซองเสนอราคาได้ (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕)

 

ภาพโดย : https://ae01.alicdn.com/kf/Ha444fb514ce84c74a635649b4da8bf57c/Handmade-CRAFT.jpg_q50.jpg

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...