ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สังคม / บุคคล ย้อนกลับ
ทันสถานการณ์! เลขาธิการ คปภ. ออกคำสั่งให้ประกันภัยการแพ้วัคซีนโควิด-19 คุ้มครองไปถึงกรณีฉีดวัคซีนโควิด ณ จุดบริการนอกโรงพยาบาลฯ ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองด้านประกันภัยเต็มที่
24 พ.ค. 2564

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง การฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการป้องกันการแพร่ระบาด และลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ ซึ่งภาครัฐได้กำหนดแผนการเร่งฉีดวัคซีนตามแนวทางการขยายหน่วยบริการ โดยสนับสนุนให้องค์กร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการฉีดวัคซีน ณ จุดบริการนอกโรงพยาบาล/สถานพยาบาลเวชกรรม เช่น จุดบริการในห้างสรรพสินค้า หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการฉีดวัคซีนให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยการแพ้วัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยการประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 จะให้ความคุ้มครอง หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19  ซึ่งในปัจจุบันมีผลประโยชน์ความคุ้มครองหลายรูปแบบให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อได้ อาทิ เช่น ผลประโยชน์การเกิดเจ็บป่วยระยะสุดท้าย และ/หรือภาวะโคม่า และ/หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว ผลประโยชน์การรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน และผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันจากการเป็นผู้ป่วยใน เป็นต้น โดยบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขผลประโยชน์ที่ระบุไว้ และโดยปกติจะเป็นการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลทั่วไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรองรับนโยบายของภาครัฐและสนับสนุนแผนดำเนินการของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยง รวมทั้งเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยที่ซื้อความคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังคงได้รับความคุ้มครองเช่นเดิมตามเงื่อนไขทั่วไปของกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่ง   นายทะเบียนที่ 26/2564 เรื่อง การให้ความคุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือสัญญาเพิ่มเติม สําหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 27/2564 เรื่อง การให้ความคุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย สําหรับบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งคำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว กำหนดให้บริษัทประกันภัยให้ความคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่กระทำการโดยแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะดําเนินการ ณ สถานที่ใดก็ตาม ผู้เอาประกันภัยจะยังได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลทั่วไป 
จากข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 มีบริษัทประกันภัยได้รับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 25 บริษัท และมี 10 บริษัทที่จำหน่ายแก่บุคคลทั่วไปแล้ว โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2564 มียอดซื้อประกันภัยรวมทั้งสิ้น 800,269 ฉบับ เบี้ยประกันภัย 96,931,810 บาท และมียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 105,190 บาท  

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงขยายวงกว้าง และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ในหลายพื้นที่ รวมถึงมีการติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ด้วย ดังนั้น ทุกคนต้องระมัดระวังและช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาด อีกทั้งเตรียมความพร้อมในการเข้ารับฉีดวัคซีน ในขณะเดียวกันเมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ระบบประกันภัยก็พร้อมเข้าไปช่วยเยียวยาได้อย่างเต็มที่ในทุกมิติ จึงหวังว่าการออกคำสั่งนายทะเบียนทั้งสองฉบับนี้จะช่วยลดข้อโต้แย้ง และเป็นการดูแลประชาชนผู้ทำประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 มีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่า เมื่อเกิดอาการไม่พึ่งประสงค์จากการแพ้วัคซีนที่มีการฉีดในสถานที่ใด ๆ ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง ก็จะได้รับความคุ้มครองจากสัญญาประกันภัยที่ทำไว้ทุกประการ โดยสำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะดูแลด้านการประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...