ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
คมนาคม เตรียมชง ครม.มิ.ย.นี้ คลอด พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ใช้ปลายปี
04 มิ.ย. 2564

“คมนาคม” คาดชง ครม.ในเดือน มิ.ย.นี้ คลอด พ.ร.บ.ขนส่งทางรางและตั้งสถาบันวิจัยระบบราง มีผลบังคับใช้ปลายปี 64 กำกับและพัฒนา ยกระดับมาตรฐานขนส่งทางรางของไทยให้สะดวก ปลอดภัย และทันสมัย

โดยเมื่อเร็วๆ นื้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม ติดตามความก้าวหน้าการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. .... และการจัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ด้วย Application “Zoom” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้พิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของกระทรวงคมนาคม ปี พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564 และให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มเติมร่างบทบัญญัติ เช่น การจัดสรรความจุ ตารางเวลาเดินรถและเส้นทาง, การสอบสวนอุบัติเหตุ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติหลักการต่อไป โดยคาดว่าจะนำเสนอ ครม.ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ภายในสิ้นปีเดียวกัน

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) นั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการในการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

โดยสถาบันฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง พัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง

ซึ่งมีเป้าหมายเร่งด่วนคือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศ (Local Content) ได้ตามนโยบาย Thai First รวมทั้งการวิจัยเพื่อสร้างรถไฟ EV มาใช้ในประเทศไทย พร้อมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยคาดว่าร่าง พ.ร.ฎ.จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงระหว่างเดือน ต.ค.- ธ.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ...มีสาระสำคัญเกี่ยวกับภารกิจของกรมการขนส่งทางรางในการกำกับดูแลเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน การกำกับดูแลมาตรฐานด้านความปลอดภัย การบำรุงทาง และการประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน กรมขนส่งทางราง ได้จัดประชุมคณะกรรมาการจัดทำมาตรฐานการขนส่งทางรางขึ้นเพื่อให้เทียบเท่าสากล โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณาร่างมาตรฐาน จำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่ 1. มาตรฐานการออกแบบทางรถไฟชนิดไม่มีหินโรยทาง สำหรับทางขนาด 1,435 มิลลิเมตร ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างทาง 2 ประเภทใหญ่ คือ โครงสร้างทางแบบไม่มีหินโรยทางประเภทมีจุดรองรับต่อเนื่องหรือรางแบบฝัง และโครงสร้างทางแบบไม่มีหินโรยทางประเภทพื้นทางคอนกรีตเสริมเหล็กแบบต่อเนื่องที่มีระบบยึดเหนี่ยวราง โดยมาตรฐานดังกล่าว จะนำมาใช้สำหรับระบบขนส่งทางรางในเมือง ชานเมืองและระหว่างเมืองที่มีขนาดทางกว้าง 1,435 มิลลิเมตร

2. มาตรฐานการตรวจสอบความเสียหายของรางรถไฟ ซึ่งมาตรฐานนี้ แบ่งประเภทความเสียหายของราง เป็นรางที่เสียหาย, รางที่ร้าว และรางที่แตกหัก โดยการจัดกลุ่มประเภทและกำหนดรหัสความเสียหายของราง ตามลักษณะความเสียหายที่ตำแหน่งต่างๆ ของราง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้ง International Railway Solution และ Union International of Railway รวมถึงวิธีการตรวจสอบ และคำแนะนำในการบำรุงรักษา ซึ่งนำมาใช้กับการตรวจสอบความเสียหายของรางรถไฟได้ทุกประเภท

3. มาตรฐานระบบบังคับสัมพันธ์บนโครงข่ายรถไฟสายประธาน ซึ่งมีการกำหนดคุณลักษณะและคุณสมบัติพื้นฐานของระบบบังคับสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถ สำหรับรถไฟสายประธานในประเทศไทยของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ที่ประชุม มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานทั้ง 3 มาตรฐานดังกล่าว โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงมาตรฐานตามความเห็นที่ประชุม ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นไปบังคับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป นอจกานี้ กรมการขนส่งทางราง ยังอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา, มาตรฐานด้านเครื่องกลและตัวรถขนส่งทางราง มาตรฐานด้านไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ, มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางอื่นๆ เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งทางรางของประเทศไทย ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...