ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
สทนช.เตรียมแก้ไขกฎหมาย เร่งอุดช่องว่างการคัดเลือกกรรมการลุ่มน้ำ ขีดเส้นแล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ภายใน ก.ย. 64 นี้
08 มิ.ย. 2564
สทนช.เดินหน้าแก้ไขกฎกระทรวงการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำใหม่ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ขีดเส้นแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 พร้อมเร่งขับเคลื่อนการคัดเลือกกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565 เพื่อร่วมวิเคราะห์แผนงานด้านน้ำในพื้นที่ แก้ปัญหาน้ำได้อย่างตรงจุด มั่นใจจะทำให้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตรงตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ.2564 และกฎกระทรวงการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ ขณะนี้ สทนช.กำลังดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 นี้ จากนั้นก็จะดำเนินการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565 โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำนั้น จะประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น และผู้แทนจากหน่วยภาครัฐ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนจะมีผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม ส่วนลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล จะมีผู้แทนจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นอกจากนี้ ลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำนั้นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดละ 1 คน รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มาจากภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ จำนวน 4 คน อย่างไรก็ตามในส่วนของกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนจาก อปท. นั้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผู้บริหาร อปท. ครบทั้ง 3 ประเภท ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และยังไม่มีประธานกรรมการลุ่มน้ำที่จะทำหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้กรรมการลุ่มน้ำไม่ครบตามองค์ประกอบของกฎหมาย สทนช.จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำฯ เพื่อให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำชุดแรกเกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเปิดโอกาสให้ อปท. ใน 3 ประเภทข้างต้นที่มีผู้บริหารแล้วส่งรายชื่อผู้บริหาร จำนวน 1 คนเข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำ และท่านที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำแล้วสามารถเป็นกรรมการลุ่มน้ำในลุ่มน้ำข้างเคียงได้ ถ้าเป็นพื้นที่ติดต่อกัน ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่บางพื้นที่ยังมีผู้บริหาร อปท. ไม่ครบทั้ง 3 ประเภท นอกจากนี้ สทนช. ยังได้เสนอให้เพิ่มเติมบทเฉพาะกาล เพื่อกำหนดบุคคลผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ แต่งตั้งบุคคลทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหากรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิมที่ประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อสรรหาคณะกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ แต่เนื่องจากทุกลุ่มน้ำยังไม่มีการประธานกรรมการลุ่มน้ำ จึงเสนอให้เลขาธิการ สทนช. ทำหน้าที่เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหากรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิแทน “สทนช.จะเร่งเดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้ และหลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. จำนวน 6 คน ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำผู้แทน อปท. 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 4 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน โดยประธาน กนช. จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกจำนวน 11 คน ซึ่งจะมีเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานกรรมการคัดเลือก และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565 เพื่อให้ทันต่อกรอบการเสนอแผนงาน/โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เนื่องจากกรรมการลุ่มน้ำจะมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการพิจารณาแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นต่อแผนงาน/โครงการด้านพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเสนอในปี 2566 ด้วย ซึ่งจะทำให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และ อยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง รวมทั้งตอบสนองต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยเสริมศักยภาพในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...