ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน
16 ก.ค. 2564

เมื่อพูดถึงกองการต่างประเทศ (กกต.) สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานหลายคนอาจจะไม่ค่อยรู้จักกันสักเท่าไหร่ จนเป็นเหมือนหน่วยงานที่ถูกมองข้าม แต่หารู้ไม่ว่ากองการต่างประเทศแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานกับต่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย เช่น ในระดับทวิภาคีมีอาทิ ไทย-เมียนมา ไทย-ลาว และไทย- อินโดนิเซีย ฯลฯ และกรอบความร่วมมือระดับพหุภาคี มีอาทิ ASEAN APEC และ IRENA ฯลฯ

นอกจากนี้ กกต.ยังเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนไทยและต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ ทั้งทางวิชาการและการส่งเสริมการค้าการลงทุนด้านพลังงานระหว่างประเทศอีกด้วย โดยมี ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองฯซึ่ง อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จะพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับบุคคลที่กล่าวได้ว่า ความมุมานะ การไม่ยอมแพ้ คือพลังที่นำพามาสู่ความสำเร็จ

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์หรือที่ใครๆ มักจะเรียกจนติดปากว่า “ดร.ลี”เริ่มบอกเราว่าเดิมกองการต่างประเทศแหงนี้มีชื่อว่า สำนักความร่วมมือระหวางประเทศ แต่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกองการต่างประเทศ ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจาก ก.พ.ร. หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการแนะนำให้เปลี่ยนเพราะเห็นคำว่าสำนักมีใช้อยู่ซ้ำกันมาก

โดย ดร.ลี บอกต่อไปว่า นั่งทำงานที่นี่มาประมาณ 9 ปี และก็ถือเป็นผู้อำนวยการคนสุดท้าย ขณะที่ยังใช้ชื่อสำนักความร่วมมือหระหว่างประเทศ โดยอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือหระหว่างประเทศ 1 ปี หลังจากนั้นทาง กพร. ก็ได้มีคำแนะนำให้เปลี่ยนชื่อมาใช้คำกว่ากองแทน จนเป็นที่มีมาของกองการต่างประเทศ

ดร.ลีพูดอย่างติดตลกด้วยว่า“หลังได้รับทุนไปเรียนต่อที่อเมริกาด้วยทุนของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เมื่อกลับมาต้องทำงานใช้ทุนและมีผู้ใหญ่ที่ให้โอนย้ายจาก สนพ. (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) มาที่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานส่วนแผนนโยบายและยุทธศาตร์พลังงานโดยให้ทำงานสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะเห็นว่าเราจบมาจากต่างประเทศ ดังนั้นทั้งการซื้อขาย ประสานงาน ต่อรอง วางแผนเกี่ยวกับต่างประเทศก็จะขึ้นอยู่กับกองนี้”

อย่างไรก็ตาม แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้นการเดินทางของ ดร.ลี ไม่ได้ราบเรียบสักเท่าไหร่ ต้องอาศัยความพยายาม แต่ด้วยความที่เป็นคนที่มีความคิดที่ต่างจากคนอื่น และด้วยการมองต่างมุมนี้แหละ คือจุดกำเนิดของการเปลี่ยนความคิดของใครหลายๆ คน

มาถึงตอนนี้ ดร.ลี ได้เล่าถึงจุดประกายในการก้าวเข้ามาทำงานราชการให้ฟังว่า ในช่วงวัยเด็กก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วๆ ไป ใช้ชีวิตเรียบง่าย (แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังคงใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่เช่นเดิม) จนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมัธยมปลายปลายที่จะต้องสอบเอ็นทรานซ์ (สอบเข้ามหาวิทยาลัย)ได้พบรุ่นพี่ที่มาแนะแนว ก็ได้ศึกษากับรุ่นพี่ท่านนั้นซึ่งสมัยนั้นมองว่าพี่เขาเก่งขนาดนี้สามารถเรียนวิศวะ เรียนแพทย์ ได้เลย แต่ทำไมพี่เขาถึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เลยมองว่า วิชานี้ต้องมีอะไรดี จึงเกิดความท้าทาย อยากเข้าเรียนวิชานี้บ้าง

“แต่เรื่องตลกก็มีอยู่ว่าเดิมเป็นคนที่ภาษาอังกฤษอ่อนมาก ซึ่งการเรียนวิชานี้จะต้องใช้ภาษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยความมุ่งมั่น และมองว่ามันคือความท้าทาย และอยากลองทำในสิ่งที่อยากทำ ดีกว่าไม่ได้ลอง จึงไปสอบและเลือกวิชาเศษฐศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสอบติดในวิชาที่เลือกก็เกิดความภูมิใจว่าความท้าทายเราเป็นผลสำเร็จ”ดร.ลี กล่าวให้ฟังตอนหนึ่ง พร้อมกับบอกต่อไปว่า

แต่ด้วยความที่บอกตั้งแต่แรกว่า เป็นคนภาษาอังกฤษอยู่ในระดับกลางๆ ทำให้เกิดความพยายามกว่าคนอื่นมาก และก็เกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นและมีความมุ่งมั่นที่จะทำอย่างไรให้ได้ใช้ภาษาให้ดี ถ้าเรียนมาและหากเราไม่ได้ใช้ก็จะหลงลืมจึงมีความคิดว่า ต้องไปเรียนต่อเมืองนอก แต่ด้วยความที่ทางบ้านอยู่ในฐานะปานกลาง การส่งไปเรียนเองจะต้องใช้ทุนที่สูง ณ ขณะนั้นจึงมีความคิดว่า จะต้องขอทุนไปเรียน และก็ได้เข้าไปศึกษากฎเกณฑ์ของการขอทุนจึงเริ่มมีการเตรียมตัวมาล่วงหน้า 1 ปี 1

ดร.ลี พูดอย่างอารมณ์ดีต่อไปว่า “ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยมีให้เลือกเรียนวิชาโทแต่ด้วยความที่เป็นคนอ่อนภาษาอังกฤษ ก็ได้ตัดสินใจพุ่งชนด้วยการลงวิชาโทภาษาอังกฤษไปเลย เราต้องเลือกสิ่งที่ยากที่สุด ที่ไม่ค่อยมีใครเขาเลือกสุดท้ายในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เรียนวิชาเอกเศรษฐศาสตร์และวิชาโทภาษาอังกฤษ ซึ่งหลายคนมองว่าบ้า เพราะการเรียนเศรษฐศาสตร์ที่นั่นต้องเรียนด้วยภาษาอังกฤษอยู่แล้ว และตัวเองก็ไม่ได้อยู่ในระดับภาษาที่ขั้นดีมาก แต่สุดท้ายก็สามารถทำสำเร็จ”

ดร.ลี บอกดวยว่า ด้วยความที่มีความตั้งใจเรียนมาตลอดทำให้ผลการเรียนดีขึ้นๆ อย่างน่าพอใจและคิดว่าถูกจริตและเข้าทาง จบออกมาด้วยเกรดที่สามารถทำให้สอบชิงทุนของ ก.พ. (ทุนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือเรียกกันว่า ทุนรัฐบาล) เพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษได้

“ขณะที่เรียนปริญญาตรีใกล้จบช่วงนั้นยังไม่ได้คิดถึงอนาคตเรื่องการทำงานแต่อย่างใด ก็ยังคงใช้ชีวิตตามแบบฉบับของวัยรุ่นคนหนึ่ง จนกระทั่งจุดเปลี่ยนของชีวิตก็เข้ามา เรียกว่าเป็นจุดประกายเริ่มต้นของวงการาชการเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อบังเอิญได้ไปพบกับรุ่นพี่ที่มาเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนมุมมองหลังจากได้พูดคุยกับรุ่นพี่คนนั้นที่ขณะนั้นท่านทำงานรับราชการที่กระทรวงหนึ่ง”

พี่เขาพูดคำหนึ่งคือ ระบบราชการเรามีทั้งสิ่งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ แต่ถ้าเราตั้งใจจะทำจริง เราจะทำเต็มกำลังความสามารถ เราก็จะได้ใช้ฝีไม้ลายมือเพื่อช่วยประเทศชาติได้” นั่นคือจุดประกายแรกที่ทำให้อยากเข้าทำงานราชการ

อย่างไรก็ตาม ดร.ลี บอกด้วยว่า จากระบบความคิดที่จะรับราชการในวันนั้นทำให้ต้องกลับมาครุ่นคิดว่า หากจะรับราชการด้วยและอยากไปเรียนต่อต่างประเทศด้วยทางออกที่ดีที่สุดนั่นก็คือ การสอบชิงทุนของ ก.พ. นั่นเอง ดังนั้นเมื่อเรียนจบแล้ว ระหว่างมีช่วงเวลา ก.พ. เปิดขอทุนจึงได้ไปทำงานเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งมองว่าเป็นผลดีเพราะจะได้เรียนรู้ทั้งการทำงานของภาคเอกชนและภาครัฐไปในตัวด้วย ซึ่งก็ทำอยู่ได้ประมาณ 10 เดือน ตามระยะเวลาที่ตั้งไว้ และได้ไปสอบทุนของ ก.พ.ผลลัพธ์ก็คือได้ทุนของ ก.พ. ได้เป็นนักเรียนทุนสมใจ

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้ ดร.ลีบอกว่า“ประสบการณ์ในวันที่สอบสัมภาษณ์นับเป็นเรื่องดีในชีวิตอีกเรื่องหนึ่งนั่นก็คือในวันที่ไปสัมภาษณ์ได้พบกับ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ตอนนั้นท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จำได้ว่าท่านเป็นคนที่ยิงคำถามมากที่สุด และสุดท้ายท่านก็เลือกเรามาตรงนี้”

“ก่อนจะไปเรียนต่อก็ได้เข้าไปลาท่าน ท่านให้คำสอนมาว่าเรียนอะไรมาไม่สำคัญ ขอให้เรียนมาแล้วคิดเป็นก็พอความรู้สึกตอนนั้นหัวใจมันฟูอย่างบอกไม่ถูกกับประโยคสั้นๆ ของท่านแต่ความหมายกินใจ”

และหลังจากเรียนจบมาก็ได้มาทำงานกับดร.ปิยสวัสดิ์ มาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นและมี สนพ. ขึ้นมา ด้วยความที่จบมาจากต่างประเทศจึงให้ทำงานต่างประเทศมากหน่อย และให้ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รับทุนอีกครั้งมที่อเมริกา เป็นทุนของกองทุนอนุรักษ์พลังงาน  5 ปี

แม้จะเห็นว่าช่วงชีวิตของ ดร.ลี จะอยู่แต่กับงานและการติดต่อด้านพลังงานต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการประชุมเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ ดร.ลีก็ยังไม่คงไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาให้กับลูกชายวัย 12 ปี ด้วยการพาเข้าวัดทำบุญปฎิบัติธรรมให้ธรรมยึดเหนี่ยวจิตใจ พาออกกำลังกายบ้าง

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...