ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
พิรุธ! สายส่งไฟปัตตานี 125 ล. ยิ่งลาก ... ยิ่งเคลือบแคลง !!? เกือบ 3 ปี เพิ่งถาม ‘บัญชีกลาง’
17 ก.ค. 2564

ความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้างสายส่งระบบไฟฟ้าของ กฟภ. ถึงมือ ป.ป.ช. โดยมือร้อง “ศรีสุวรรณ” ชำแหละครบเครื่อง สอบ 5 บิ๊ก กฟภ. ไล่ดะผู้เกี่ยวข้องยันถึงผู้ว่าการฯ ล่าสุด เอกสารโผล่ ผ่านมาเกือบ 3 ปี เพิ่งส่งหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง โดนตอกกลับ ไปทำความเห็นส่ง “ปลัดคลัง” ชี้ชะตาขั้นสุดท้าย “บูรพา เทคนิคอล” เป็น “ผู้ทิ้งงาน” หรือไม่

ทั้งนี้ จากการนำเสนอข่าว ความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบสายส่งไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หลายโครงการ มูลค่าหลายร้อยล้านบาท โดยเฉพาะโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท ที่ปัจจุบันพื้นที่โครงการยังถูกทิ้งล้าง กองเต็มไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ของ อปท.นิวส์ ในฉบับที่แล้วไปนั้น

  • ศรีสุวรรณ ยื่นสอบ 5 บิ๊ก กฟภ.

ต่อประเด็นดังกล่าวนี้เอง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการและรักษาการนายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นหนังสือร้องต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว โดยระบุขอให้ ป.ป.ช. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 234 (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 28 (2) เพื่อไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ กฟภ. จำนวน  5 คน ประกอบด้วย

1. นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. 2. นายสุรศักย์ พงษ์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการวิศวกรรม กฟภ. (ตำแหน่งในขณะนั้น) 3. นายปิยพจน์ รุธิรโก อดีตรองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. (ในขณะนั้น) 4. นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. และ 5. นายวิรุจน์ หมื่นกูด ผู้อำนวยการกองสนับสนุนงานก่อสร้าง กฟภ. มีการกระทำอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่

โดยหนังสือร้องของนายศรีสุวรรณดังกล่าว ระบุเริ่มต้นกรณีของนายสุรศักย์ พงษ์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการวิศวกรรม กฟภ. (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นผู้จัดทำโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 - สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี กับบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด วงเงิน 125 ล้านบาท ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 กำหนดแล้วเสร็จ 720 วัน แต่ปรากฎว่า บริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 720 วัน ตามที่สัญญากำหนดได้ แต่ กฟภ.ก็ยังใจดี ขยายสัญญาต่อให้อีกหลายครั้ง จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 บริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ กยังดำเนินการไม่เสร็จอยู่ดี จนในที่สุด กฟภ.จึงได้ออกหนะงสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ตามหนังสือลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561

โดยหนังสือบอกเลิกสัญญา ระบุไว้ในตอนท้ายด้วยว่า PEA (กฟภ.) พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทไม่สามารถปฏิบัติงานตามสัญญาต่อไปได้ เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่อระบบได้ตามแผนงาน เพื่อมิให้เกิดความเสียหาย จึงขอบอกเลิกสัญญาและสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญา รวมถึงค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลิกสัญญา และใช้สิทธิภายหลังกานบอกเลิกสัญญาตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนสัญญาข้อ 16 และข้อ 17 พร้อมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการเป็นผู้ทิ้งงานตามกฎหมายต่อไป ลงนามโดยนายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ ปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ในขณะนั้น)

  • พิรุธแรก ได้งานใหม่ ขณะถูกบอกเลิกสัญญา

หนังสือดังกล่าว ระบุต่อไปว่า กรณีดังกล่าวเรื่องก็น่าจะยุติหรือหยุดอยู่ที่ .... บริษัทที่ดำเนินโครงการไม่สำเร็จต้องถูกปรับ พร้อมถูกขึ้นบัญชีดำไว้ เพื่อไม่ให้สามารถเข้าร่วมประมูลหรือรับงานจาก กฟภ.เอง หรือจากหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ได้อีกทเพราะได้เคยเป็นผู้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่รัฐมาแล้ว คือเป็นเรื่องที่ไม่อาจเชื่อถือให้งานแก่บริษัทนี้ได้อีกนั่นเอง

แต่ทว่า อยู่ๆ กลับกลายเป็นเรื่องพิลึกพิลั่น เมื่อบริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ เจ้าเดียวกันนี้เอง กลับมีชื่อได้รับงานจาก กฟภ.อีกรอบ ในการจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี บริเวณสามแยกบ้านแกใหญ่-ทางหลวงหมายเลข 076 (กม.ที่ 19+280) จังหวัดสุรินทร์ มูลค่า 137,699,370 ล้านบาท ตามโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 1 ด้วยวิธีประกวดราคา (e-bidding) ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2562 โดยนายอุโลม อุตมะพันธุ์ รองผู้ว่าการ ปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

เท่านั้นยังไม่พอ บริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ ยังมีชื่อในโครงการการร่วมทุนและรับงานทำสายส่งระบบอีกหลายจังหวัดในปี 2562-2563

โดยหนังสือร้องของนายศรีสุวรรณ อ้างข้อกฎหมายด้วยว่า ตามหลักการทางกฎหมาย การที่บริษัทฯ ถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ภาครัฐ 2560 มาตรา 109 (2) ที่ระบุว่า คู่สัญญาของหน่วยงานรัฐหรือผู้รับจ้างช่วงที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้รับช่วงงานได้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือนั้น ให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาเป็นผู้ทิ้งงาน และให้แจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐทราบกับแจ้งเวียนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง รวมทั้งแจ้งให้ผู้ทิ้งงานทราบด้วย

    แล้วเกิดอะไรขึ้นที่ กฟภ. คำถามแรกคือ บริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ ที่เคยสร้างความเสียหายให้แก่ กฟภ.มาแล้ว และน่าจะมีชื่ออยู่ในบัญชีดำ ทำไม...? ถึงยังได้เข้าร่วมประมูล (และชนะการประมูลด้วย) และก็มาถึงบางอ้อ เมื่อมาพบเรื่องประหลาดขึ้นอีก !!! หนังสือร้องของนายศรีสุวรรณ ตั้งคำถาม พร้อมระบุต่อไปว่า

ทั้งนี้ พบว่า วันที่ 13 ธันวาคม 2562 นายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ ปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ในขณะนั้น) ได้ลงนามในหนังสือแจ้งถึงบริษัทฯ ว่า จะไม่ลงโทษให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน จากการไม่สามารถทำการก่อสร้างโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท

  • พิรุธสอง ออกหนังสือรับรองย้อนหลัง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในหนังสือไม่ลงโทษเป็นผู้ทิ้งงานนั้น ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 โดยนายปิยพจน์ รุธิรโก ขณะที่ในการจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควีบริเวณสามแยกบ้านแกใหญ่-ทางหลวงหมายเลข 2076 (กม.ที่ 19+280) จังหวัดสุรินทร์ ตามโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 1 ด้วยวิธีประกวดราคา (e-bidding) ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 และกฟภ.ได้มาลงนามสั่งจ้างงานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562

   ข้อพิรุธ คือ บริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ เข้าร่วมประมูลก่อน กฟภ.ออกหนังสือแจ้งไม่ลงโทษทิ้งงาน และยังเป็นหนังสือแจ้งไม่ทิ้งงานภายหลังบริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ ชนะการประมูลไปแล้วด้วย คือ หนังสือแจ้งไม่ลงโทษ ย้อนหลังการชนะประมูล เสมือนว่า เป็นหนังสือรับรองบริษัทฯ ให้ได้รับงานภายหลังการชนะประมูลอย่างใดอย่างนั้น หนังสือดังกล่าวระบุ  

ขณะที่นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. มีชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยนั้น หนังสือร้องระบุ เป็นเพราะการออกมาแก้ต่างเมื่อราวเดือนมีนาคม 2564 ให้กับบริษัทฯ ดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ที่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จ เนื่องจากมีปัญหาการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังเป็นคู่สัญญากับ กฟภ.อีก 3 สัญญา และสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ ส่วนปัญหาที่ปัตตานี บริษัทดังกล่าวนี้ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบและยินยอมจ่ายค่าปรับ จึงไม่ลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน

  • พิรุธสาม ตัดทิ้งเงื่อนไขสำคัญ

หนังสือร้องยังระบุต่อไปว่า นอกจากเงื่อนงำความไม่ชอบมาพากลที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังพบข้อพิรุธในโครงการอื่นๆ อีก โดยเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา นั่นคือ การประกาศประกวดราคา (PEA-M(R)-008/2564) เรื่อง จ้างก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่ กฟน.2 (จังหวัดน่าน แพร่ สุโขทัยและพิจิตร) e-bidding มูลค่า 208,849,600 บาท เมื่อวันที่ 2 มีนาคสม 2564 ลงนามโดยนายวิรุจน์ หมื่นกูด ผู้อำนวยการกองสนับสนุนงานก่อสร้าง กฟภ. ได้จัดทำประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างฯ โดยได้ตัดเงื่อนไข “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องไม่เคยถูก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บอกเลิกสัญญาในโครงการก่อสร้าง เนื่องจากทำงานไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาของสัญญา” ทิ้งไปเสียโดยไม่มีเหตุผล ทั้งๆ (ปรากฎตามเอกสารแนบ) ทั้งๆ ที่ในอดีตที่ผ่านมา ในทุกการประกวดราคาจ้างของ กฟภ.จะต้องถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขที่ถูกระบุไว้ในทุกโครงการก่อนหน้านี้ ซึ่งปกติจะปรากฎอยู่ในข้อ 15 ของเอกสารประกวดราคาของ กฟภ. ตลอดมา (ปรากฎตามเอกสารแนบ)

แต่ที่เป็นข้อพิรุธสำคัญคือ ก็เป็นเจ้าเก่า บริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ อีกเช่นเคย ที่ชนะการประมูลที่ให้ราคาต่ำสุดอันดับ 1 คือ 208,817,600 บาท ต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ ในร่างประกวดราคา (PEA-M(R)-033/2564 เรื่อง จ้างก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่ กฟต.3 (จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) e-bidding วงเงิน 148,365,397.50 บาท เงื่อไข “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องไม่เคยถูก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บอกเลิกสัญญาในโครงการก่อสร้าง เนื่องจากทำงานไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาของสัญญา” ก็ถูกตัดออกไปเช่นกัน (ปรากฎตามเอกสารแนบ)

หนังสือร้องระบุต่อไปว่า กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ในการจัดทำร่างประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างของ กฟภ. โดยนายวิรุจน์ หมื่นกูด ผู้อำนวยการกองสนับสนุนงานก่อสร้าง กฟภ. เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่เคยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงาน ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 มาตรา 109 (2) ประกอบมาตรา 102 โดยชัดแจ้ง

โดยผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุ ทั้งที่เป็นผู้ใช้และผู้สนับสนุน อาจถือได้ว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัศดุ 2560 ตามกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ 2560 โดยมิชอบ

  • ผู้ว่าฯ กฟภ. โดนด้วย

หนังสือร้องของนายศรีสุวรรณ ยังอ้างถึง มาตรา 120 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการยบริหารพัสดุ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจพชำทั้งปรับ

ผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามวรรคหนึ่ง

ซึ่งย่อมหมายถึง นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานแห่งนี้ด้วย นอกจกากนั้น ยังอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 อีกด้วย หนังสือร้องระบุ

  • ทิ้งห่าง 3 ปี เพิ่งสงหนังสือหารือกรมบัญชีกลาง

 อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เปิดเผยกับ อปท.นิวส์ว่า กฟภ. ได้มีหนังสือมาถึงกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 เรื่อง ขอหารือเกี่ยวกับการพิจาณาเป็นผู้ทิ้งงาน ของบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในโครงการสายส่งระบบ 115 ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 - สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยแนบเอกสารสัญญา หนังสือบอกเลิกสัญญา หนังสือ กฟภ. แจ้งบริษัทฯ เหตุยกเลิกสัญญา และหนังสือชี้แจงจากบริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ สำหรับเหตุผลในการทิ้งงาน โดยสรุปได้ดังนี้

1. พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบ และไม่สามารถประเมินหรือคาดการณ์ได้ส่วงหน้า โดยในช่วงเวลาที่ดำเนินงานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2559-2561  เกิดเหตุการณ์ไม่สงบต่อเนื่อง และบ่อยครั้ง ทั้งในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลกระทบให้ต้องหยุดงานก่อสร้าง อีกทั้งทำให้พนักงาน และแรงงาน เกิดความวิตกกังวลถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินและร่างกาย จึงหยุดงาน และลาออกไปจำนวนมาก

2. เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และพื้นที่ใกล้เคียงส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินงานก่อสร้างได้ แม้บริษัท บูรพาฯ จะได้รับการขยายเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบ

3. ภายหลังถูกบอกเลิกสัญญา บริษัท บูรพาฯ ยังคงติดต่อและให้ความร่วมมือกับ กฟภ.เป็นอย่างดี รวมทั้งยินดีรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยเบื้องต้น บริษัท บูรพาฯ ได้ชำระเงินค่าปรับบางส่วนเป็นจำนวนเงิน 6,000,000 บาท ให้แก่ กฟภ.

4. ในช่วงเวลาเดียวกับงานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 - สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี บริษัท บูรพาฯ เป็นคู่สัญญางานก่อสร้างสายส่งกับ กฟภ. หลายสัญญา และสามารถดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และตั้งใจในการปฏิบัติตามสัญญา

พร้อมกับระบุว่า กฟภ. พิจารณาเหตุผลของ บริษัท บูรพาฯ แล้วเห็นว่า บริษัท บูรพาฯ ไม่มีเจตนาและพฤติกรรมที่จะเป็นผู้ทิ้งานจริง หรือจงใจทำให้ กฟภ. เกิดความเสียหายโดยตรง และเห็นว่าการที่ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา มิได้กระทำไปโดยไม่มีเหตุผลสมควร กฟภ.จึงมีหนังสือแจ้งบริษัท แจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวให้บริษัท บูรพาฯ ทราบ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น กฟภ. จึงขอเรียนหารือว่าการพิจารณาของ กฟภ. ที่เห็นว่าบริษัท บูรพาฯ มีเหตุผลสมควร จึงไม่ถือว่าบริษัท บูรพาฯ กระทำการทิ้งงานสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 109 (2) หรือไม่ หรือ กฟภ.ควรจะต้องดำเนินการอย่างไร ลงนามโดย นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้ส่งหนังสือตอบไปแล้วเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยสรุปคือ เมื่อบริษัทฯ ชี้แจ้งมามาแล้ว จึงเป็นดุลพินิจของ กฟภ. ในการพิจารณาว่า บริษัทฯ กระทำการอันมีลักษณะเป็นการทิ้งงานตามความในมาตรา 109 หรือไม่ เมื่อได้ผลพิจารณาแล้วก็ให้เสนอความเห็นไปยังปลัดกระทรวงการคลัง หากปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห้นว่า บริษัทฯ สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน ก็จะดำเนินออกคำสั่งให้บริษัทฯ และกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมทั้งแจ้งเวียนชื่อผู้ทิ้งงานให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ทราบ แต่หากปลัดกระทรวงการคลังเห็นว่า บริษัทฯ ไม่สมควรเป็นผู้ทิ้งงาน จะแจ้งผลการพิจารณาไปให้ กฟภ.ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนท้ายหนังสือของกรมบัญชีกลาง ระบุชัดว่า เมื่อ กฟภ.พิจารณาออกมาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ยังต้องส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาตัดสินใจอีกครั้งเป็นลำดับต่อมาด้วย รวมถึงถามด้วย ทำไม กฟภ. ถึงเพิ่งส่งหนังสือไปยังกรมบัญชีกลาง โดยทิ้งช่วงเวลาห่างกันถึงเกือบ 3 ปี หลังจากมีหนังสือบอกเลิกสัญญา ซึ่งเรื่องนี้มีผู้ให้ความเห็นว่า “ลักษณะอย่างนี้ถือว่า เป็นการเตะถ่วงเพื่อไม่ให้เป็นผู้ทิ้งงาน โดยมีเจตนาจะช่วย เพราะถ้าเข้าข่ายเป็นผู้ทิ้งงานที่สามารถวินิจฉัยได้แล้ว แต่ไม่เสนอ กลับทำมาในลักษณะหารือ เพื่อจะให้บัญชีกลางสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานไม่ได้”

ทั้งนี้ หากมีข้อมูลหรือความคืบหน้าต่อประเด็นความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวข้างต้น อปท.นิวส์ จะติดตามและนำเสนอท่านผู้อ่านต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...