ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
เกษตรกร ช้ำหนัก “โรคระบาดหมู-วัว” ถล่มไทย วิ่งร้องสภาเกษตรฯ จี้รัฐแก้ไข
22 ก.ค. 2564

เกษตรกรไทยซ้ำวิกฤต เจอโรคระบาดรุมถล่ม ทั้งอหิวาต์แอฟริกันหมู-ลัมปิสกินวัว/ควาย เฉพาะหมูระบาดหนักจนสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทนไม่ไหว ดอดฟ้อง “ประพัฒน์” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้ออกหน้าฟ้องรัฐบาล ยอมรับได้แล้วว่า ไทยเกิดการระบาดของแอฟริกันหมูเอเอสเอฟ

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวกับสือเมื่อเร็วๆ นี้ว่า มีสมาชิกของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เข้าหารือพร้อมแจ้งว่า ตอนนี้ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศไทยไปทั่วทุกภาคแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี ที่มีฟาร์มเลี้ยงสุกรจำนวนมาก ก็ไม่สามารถควบคุมโรค ASF ได้ และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรอย่างรุนแรงมาก จึงอยากให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นแกนนำในการแจ้งให้รัฐบาลได้รับทราบ

โดยเมื่อเหตุการณ์บานปลายถึงตอนนี้แล้ว ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติจะเตรียมจัดประชุมร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อจะได้แสดงจุดยืนและแจ้งให้รัฐบาลรับทราบและให้กรมปศุสัตว์เร่งเข้ามาแก้ไขปัญหา ASF โดยด่วนที่สุด เพราะหากรัฐบาลยังไม่รีบวางแนวทางในการป้องกันแก้ไข อนาคตอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรจะมีผลกระทบระยะยาว และจะส่งผลกระทบไปถึงประชาชนผู้บริโภค ชาวนา โรงสี เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นลูกโซ่กันไปหมด จะมีคนตกงานอีกจำนวนนับล้านคน

“สมาชิกของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โทร.มาหาผมเอง พร้อมกับบอกว่า จะเอาโรค ASF ไม่อยู่แล้ว ราชบุรีแตกแล้ว ภาคอีสานก็ระบาดไปหลายฟาร์ม โรค ASF ได้แพร่ระบาดไปทุกภาคของประเทศแล้ว ถึงเวลาที่ต้องยอมรับความจริงกันแล้ว ก็ไม่รู้ว่า กรมปศุสัตว์ทำอะไรกันอยู่ จึงอยากให้สภาเกษตรกรแห่งชาติแจ้งให้รัฐบาลทราบถึงปัญหา และจะได้สอบถามรัฐบาลถึงแนวทางในการทำงานในการป้องกัน ASF เพื่อไม่ให้โรคมีการระบาดไปมากกว่านี้” นายประพัฒน์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดตอนนี้ ฟาร์มเลี้ยงหมูหลายฟาร์มเร่งระบายขายหมูออกมา เพื่อลดการเลี้ยงลง มีการเทขายสุกรขุนที่ยังไม่ได้น้ำหนัก การเร่งระบายขายสุกรพ่อแม่พันธุ์ในราคาถูกๆ เพื่อจะลดความเสี่ยง ส่งผลให้ราคาสุกรอ่อนตัวลงมาก ตอนนี้แม่หมูปลดไม่มีราคาเลย ยกตัวอย่าง ภาคเหนือ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจากเดิม 80 บาทต่อ กก. ตอนนี้ตกลงมาเหลือ 70 กว่าบาทต่อ กก. ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 60 บาทต่อ กก. และมีแนวโน้มราคาจะลงมาต่ำกว่าต้นทุน ที่ผ่านมาสุกรที่ติดโรคระบาดจะได้เงินชดเชยจากฟาร์มรายใหญ่อุดหนุนเงินมาให้ แต่ปีนี้สมาชิกรายใหญ่ก็หมดแรง เชื่อว่าปีหน้าคนไทยจะต้องกินหมูแพงแน่

แหล่งข่าววงการผู้เลี้ยงสุกร กล่าวว่า ถึงเวลาที่จะยอมรับกันได้แล้วว่า ประเทศไทยมีโรค ASF นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่ไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านจนผู้เลี้ยงรายย่อยตายกันหมดแล้ว ตอนนี้ลุกลามสู่รายกลางและรายใหญ่อย่างรวดเร็ว หลายรายลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรที่ติดเชื้อขายไปทั่ว โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรีที่ถือเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร “ลุกลามหนัก” รายใหญ่ก็ยังประสบปัญหา ส่งผลให้ราคาวิ่งลงเร็วมากตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนถึงปัจจุบันลงมาเกือบ 20 บาท

ทว่า กรมปศุสัตว์ยังไม่ยอมรับความจริง แต่กลับแจ้งว่า เป็นโรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (PRRS) ส่งผลกระทบทั้งระบบกว่าแสนล้านบาท เมื่อคนเลี้ยงตาย กระทบถึงผู้ผลิตอาหารสัตว์ คนขายยา และเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา-เวียดนาม ได้รายงานการพบเชื้อโรค ASF จากการนำเข้าหมูหลายครั้ง แต่กรมปศุสัตว์ยืนยันว่า เป็นหมูลักลอบส่งออกผิดกฎหมาย

สังเกตได้ว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ประกาศราคาแนะนำทั้ง 5 ภาค ตลอดช่วงเดือนเมษายน 2564 สุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ 80 บาทต่อ กก. ราคาขายส่งห้างค้าปลีก 128 บาทต่อ กก. และราคาขายปลีกหรือเขียง 158-160 บาทต่อ กก. แต่ราคาขายจริงยืนอยู่ที่ประมาณ 60 กว่าบาท

ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกตัวปรับราคาขึ้นหมด ล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 สุกรมีชีวิตภาคตะวันตกปรับลงมาที่ 68-69 บาท ราคาขายส่งห้างค้าปลีก 108-110 บาท และราคาขายปลีกหรือเขียง 134-138 บาท ขณะที่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มภาคอื่นวิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 72-78 บาทต่อ กก. สะท้อนว่า ราชบุรี นครปฐมราคาปั่นป่วนมาก โดยราคาจริงต่ำลงมาที่ 60 บาท

ขณะเดียวกันในวงการเลี้ยงโคเนื้อก็พบการระบาดของโรคลัมปิสกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่สำหรับประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านดอนแดง ตำบลแสนสุข อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 และกรมปศุสัตว์ได้มีการรายงานการเกิดโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 โรคนี้เป็นโรคเฉพาะในโค กระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์สั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคลัมปิสกิน จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งส่งถึงไทยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย โดยใช้งบประมาณจากกรมปศุสัตว์เองในการนำเข้าวัคซีนในราคา 60 บาท/โดส จำนวนลอตแรก 60,000 หมื่นโดส

ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการจัดหาวัคซีนควบคุมโรคลัมปิสกินเพิ่มอีก 300,000 โดส เพื่อเสริมการป้องการโรคให้ครอบคลุมมากขึ้น ล่าสุดมีการแพร่ระบาดใน 35 จังหวัด จำนวนโค-กระบือที่ติดเชื้อประมาณ 7,200 ตัว ในจำนวนนี้ตายแล้ว 35 ตัว และสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นมา และยังไม่มีรายงานว่า มีจำนวนสัตว์ตายหรือระบาดไปในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจาก 35 จังหวัดดังกล่าว

นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะเจ้าของชูวิทย์ฟาร์ม จ.อุบลราชธานี และประธานผู้เลี้ยงโคเนื้ออเมริกันบราห์มันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โคเนื้อ 6 ล้านตัวทั่วประเทศไทย มูลค่าการค้าหมุนเวียนวงเงินประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท มีการส่งออกไปต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา แต่ตอนนี้มีการติดโรคลัมปิสกินไปแล้วประมาณ 1 ล้านตัวแล้ว

ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายมาก จน “ตลาดนัดโค” ต้องหยุดการซื้อขาย ด้านผู้บริโภคตอนนี้คนไม่กล้าบริโภคเนื้อวัว ส่วนวัคซีนที่เข้ามา 60,000 โดสนั้น “ก็ยังไม่เพียงพอ” แต่ทราบว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มมาอีก ขณะเดียวกันทราบว่ามีเจ้าของฟาร์มโคเนื้อหลายแห่งที่รอวัคซีนจากภาครัฐไม่ไหว ได้ใช้เงินส่วนตัวซื้อวัคซีนมาฉีดให้โคเนื้อที่เลี้ยงแล้ว เพราะการระบาดของโรคยังลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยสัตวแพทย์ระบุว่า แมลงไต่ตอมที่เป็นพาหะของโรคบินไปได้เร็ว 600 กม.ต่อ ชม.

นายหมี่รัน ขำนุรักษ์ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนคนเลี้ยงวัวลังกาสุกะพัทลุง และตลาดกลางลังกาสุกะกรุ๊ป โค กระบือแพะ อ.กงหรา จ.พัทลุง กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ออกมาตรการประกาศการควบคุมห้ามเคลื่อนย้ายโค กระบือ จนได้ส่งผลกระทบตลาดโค กระบือ ทางภาคใต้อย่างหนัก เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงสู่ทางภาคใต้ เฉพาะตลาดกลางลังกาสุกะก่อนเกิดโรคลัมปิสกิน จะมีโคเคลื่อนไหวซื้อขายโค-กระบือระหว่างกันประมาณ 2,000-3,000 ตัว/เดือน ราคาเฉลี่ย 30,000 บาท/ตัว จะเป็นเงินประมาณ 60 ล้านบาท และประมาณ 90 ล้านบาท/เดือน

แต่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การซื้อขายได้ยุติลง การเงินหมุนเวียนก็ยุติหมด หากยังไม่มีการเคลื่อนย้าย เงินหมุนเวียนซื้อขายโคก็จะหายไปประมาณกว่า 200 ล้านบาท เป็นภาพรวมเฉพาะในเครือข่ายลังกาสุกะทางภาคใต้ นอกนั้นยังมีโคกุรบันที่จะมีการซื้อขายเคลื่อนย้ายไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอดไปถึงประเทศมาเลเซีย ในห้วงระยะ 2 เดือนกว่านี้ ซึ่งโคกุรบันที่มีความต้องการกว่า 10,000 ตัว เป็นเงินประมาณ 300 ล้านบาท ก็จะเสียหายไปอีก รวมเม็ดเงินที่หายไปในเครือข่ายลังกาสุกะทั่วภาคใต้ จนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดใกล้เคียง ภาพรวมประมาณกว่า 500 ล้านบาท

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...