ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
กทม.เปิดศูนย์พักคอยฯ 62 แห่ง ปรับเกณฑ์แยกกักที่บ้าน-ชุมชน ผู้ป่วยต้องเข้าระบบรักษาเร็วที่สุด
05 ส.ค. 2564

กทม. ปรับเกณฑ์รับผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน-แยกกักในชุมชน เร่งดันผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบรักษาให้เร็วขึ้น

5 ส.ค. 2564 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ชี้แจงทำความเข้าใจขั้นตอนการนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าระบบการรักษา โดยการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) และแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) เพื่อให้การดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเป็นหมายเลขกลาง และขณะนี้ กทม. ได้เปิดให้บริการสายด่วนโควิด 50 เขตเพิ่มเติมเขตละ 20 คู่สาย ซึ่งประชาชนสามารถโทรได้ทั้งสองช่องทาง นอกจากนี้ยังสามารถเข้าผ่านทาง web application โดยการสแกนผ่าน QR code จากนั้นจะมีการลงบันทึกข้อมูลผ่านทาง web portal ของสปสช. ระบบจะจับคู่หน่วยบริการอัตโนมัติ และส่งไปให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกอบอุ่นที่อยู่ใกล้บ้านของผู้ป่วย ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขจะดำเนินการตอบรับผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง โดยมีการประเมินว่าเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง กรณีที่เป็นสีเขียว จะเข้าระบบ HI แต่หากที่บ้านไม่สามารถแยกกักได้ จะส่งต่อไป CI หรือหากประเมินแล้วเป็นสีเหลืองหรือสีแดง

กรมการแพทย์ได้จัดทำระบบ Bed Management Center โดยทำการหาเตียงที่ว่างเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ในส่วนของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะดำเนินการโดยศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งดูแลรถรับส่งผู้ป่วยในภาพรวม โดยมีการจัดตั้ง War room ตั้งอยู่ที่อาคารธานีนพรัตน์ชั้น 27 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ซึ่งมีบุคลากรจากสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และกรมการแพทย์ ประชุมและประสานงานร่วมกันทุกวัน

ขณะที่ สวทช. และ DGA ได้พัฒนาโปรแกรม BKK HI/CI care ซึ่งสามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน โดยแพทย์สามารถติดต่อกับคนไข้ผ่านทาง LINE OA เพื่อสอบถามอาการป่วยในแต่ละวัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากจิตอาสาในหลายภาคส่วนที่จะเข้ามาร่วมทำงาน ด้านการจัดส่งอาหารให้กับผู้ป่วย ได้รับความร่วมมือจากสมาคมภัตตาคารไทย รวมถึงทางเดลิเวอร์รี่ Skootar ในการส่งอาหาร โดยมีการจำแนกประเภท เช่น อาหารฮาลาลสำหรับชาวมุสลิม อาหารมังสวิรัติ อาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะมีการปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่าน ครอบคลุมทั้ง 50 เขต รวมถึงการจัดส่งยาหรืออุปกรณ์แรกรับ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนจะมีเอกสารคำแนะนำส่งไปให้ถึงบ้าน เช่น วิธีการวัดไข้ วัดออกซิเจน รวมถึงเอกสารเพื่อบันทึกอาการในแต่ละวัน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข ตำรวจนครบาล จิตอาสาพระราชทาน ส่งยาให้ผู้ป่วย รวมจำนวนหน่วยบริการทั้งหมดใน กทม.รวบรวมได้ประมาณ 238 แห่ง รองรับผู้ป่วยประมาณ 80,000 – 100,000 คน

การดำเนินงานของศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) หรือในกรุงเทพฯ เรียกว่าศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเป็นสถานที่สำหรับแยกผู้ติดเชื้อโควิค-19 ที่มีอาการไม่มาก หรือไม่แสดงอาการ ซึ่งประเมินแล้วว่าไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (Home Isolation : HI) ให้มาพักในศูนย์แห่งนี้ เพื่อรอการนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลกรณีที่มีอาการรุนแรงขึ้น โดยแบ่งประเภทศูนย์พักคอยได้ ดังนี้ 1. ศูนย์พักคอยโดยกรุงเทพมหานครร่วมกับหน่วยงานภาคี (Community Isolation : CI) จำนวน 55 แห่ง 2. ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation plus : CI plus) จำนวน 7 แห่ง 3. ศูนย์พักคอยโดยภาคประชาชน (Semi Community Isolation) จำนวน 19 แห่ง 4. ศูนย์พักคอยโดยหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม จำนวน 4 แห่ง และ 5. ศูนย์พักคอยในองค์กรเพื่อรองรับเฉพาะบุคคลในองค์กร (Organizational Isolation) จำนวน 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 85 แห่ง

ปัจจุบัน กทม. จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้ว จำนวน 62 แห่ง อยู่ในพื้นที่เขต 50 เขต เปิดบริการแล้ว จำนวน 47 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 กลุ่มเขต (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 64) สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 7,926 เตียง ประกอบด้วยกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ จำนวน 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 1,855 เตียง กลุ่มเขตกรุงเทพกลางจำนวน 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 1,130 เตียง กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ จำนวน 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 1,411 เตียง กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 9 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 1,323 เตียง กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ จำนวน 9 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 836 เตียง และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ จำนวน 11 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 1,371 เตียง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...