ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
แก้กฎหมายแรงงานใหม่จ่ายค่าชดเชย “วัยเกษียณ” ถูกเลิกจ้าง
07 ม.ค. 2560

         รัฐแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่ กำหนดให้การเกษียณอายุ 60 ปี คือการเลิกจ้างและนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เลิกจ้าง อายุงาน 10 ปีขึ้นไปได้รับตามสิทธิ์ 300 วัน หรือ 10 เดือน

        สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ดังกล่าวนี้ จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน พ.ค.ปีนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้มีผลต่อการประเมินการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกในช่วงกลางปีนี้นั้น

         ขณะเดียวกัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ยังได้ปรับแก้ไขกฎหมาย โดยให้อำนาจคณะกรรมการในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างประเภทต่างๆเพิ่มเติมครอบคลุมไปถึงกลุ่มลูกจ้างเด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษา, คนพิการและผู้สูงอายุ ทำให้การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตอบโจทย์ลูกจ้างในกลุ่มต่างๆได้ดีขึ้น

        นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างต้องส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายส่งผลให้มีขั้นตอนมากขึ้นในการทำธุรกิจ ซึ่งในกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ปรับเปลี่ยนเป็นให้นายจ้างประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และให้นายจ้างจัดเก็บสำเนาข้อบังคับไว้ที่สถานประกอบกิจการเพื่อให้เรียกตรวจสอบได้

          ซึ่งล่าสุด ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน ซึ่งฉบับเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2541 หรือเกือบ 20 ปี จึงไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โดยมีสาระสำคัญเรื่องการกำหนดให้ผู้สูงอายุที่เป็นลูกจ้างที่ครบกำหนดเกษียณอายุให้ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน โดยให้เพิ่มมาตรา 118/1 ให้ถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรค 2 เพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง และกำหนดอายุของการเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปีบริบูรณ์ และในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุและได้รับค่าชดเชยแล้ว นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงทำสัญญาจ้างใหม่โดยแตกต่างไปจากสัญญาเดิมก็ได้

        สำหรับอัตราเงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง หากทำงานให้นายจ้างมานานเกิน 10 ปี จะได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างเป็นอัตราเงินเดือนสุดท้ายไม่น้อยกว่า 300 วัน หรือ 10 เดือน อายุงาน 6-10 ปี อย่างน้อยต้องได้รับเงินชดเชย 8 เดือน และ 3-6 ปี จะต้องได้รับอย่างน้อย 6 เดือน โดยกฎหมายใหม่จะกำหนดให้การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง ทำให้ได้รับสิทธิ์ชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกรณีเลิกจ้าง

        ทั้งนี้ หากไม่มีการระบุอายุเกษียณไว้ในสัญญาการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ให้ใช้เกณฑ์อายุครบเกษียณที่ 60 ปี จะได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างงานทันที หลังจากนั้นอาจทำสัญญาฉบับใหม่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่แตกต่างจากเดิมก็ได้ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญในกฎหมายคุ้มครองแรงงานรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต่อไป ซึ่งแต่ละปีจะมีลูกจ้างที่ครบกำหนดเกษียณอายุประมาณ300,000-400,000ราย

         ส่วนกำหนดบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา กรณีที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยเมื่อเกษียณอายุ โดยทางอาญาให้มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนทางแพ่งให้นายจ้างรับผิดชอบเสียดอกเบี้ยผิดนัดชำระในการจ่ายค่าชดเชยในอัตรา 15% ต่อปี และถ้าจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 15%ในระยะทุก7วัน

อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ ทางอีเมลส่งตรงจากเว็บไซต์อสังหาฯ อันดับ ของเมืองไทยฟรี สมัครได้ที่นี่ หรืออ่านรีวิวโครงการบ้านและคอนโดฯใหม่

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...