ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด
09 ก.พ. 2560

          นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยพันธุ์พืชและพรรณไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นักวิจัยของสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชร่วมกับนักวิจัยต่างชาติ ได้มีการค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทย จำนวน 8 ชนิด แต่ละชนิดพบในพื้นที่ป่าที่แตกต่างกัน อีกทั้งได้มีการรับรองตีพิมพ์และอยู่ระหว่างการตีพิมพ์ในวารสารด้านพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ตัวอย่างของพืชชนิดใหม่ของโลกทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ 
          สำหรับพรรณไม้ชนิดใหม่ 8 ชนิด ที่มีความน่าสนใจ ได้แก่

          1. ช้องเจ้าฟ้า ชื่อพฤกษศาสตร์ Buxus sirindhorniana W. K. Soh , von Sternb., Hodk. & J. Parn. วงศ์ Buxaceae ช้องเจ้าฟ้าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก คำระบุชนิด“sirindhorniana” ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ช้องเจ้าฟ้าพบได้ตามเขาหินปูนตั้งแต่บริเวณติดชายแดนเมียนมาในจังหวัดกาญจนบุรีถึงดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  
          2. ยมหินปูน ชื่อพฤกษศาสตร์ Toona calcicola Rueangr., Tagane & Suddee วงศ์ Meliaceae ยมหินปูนเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามซอกหินปูนที่บริเวณสวนสวรรค์ วนอุทยานสวนหินผางาม อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์จากสำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับทีมงานนักพฤกษศาสตร์ญี่ปุ่น  
          3. ชะนูดต้นแก่งกระจาน ชื่อพฤกษศาสตร์ Prunus kaengkrachanensis Nagam., Tagane & Suddee วงศ์ Rosaceae ชะนูดต้นแก่งกระจานเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามป่าดิบเขาบริเวณพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์จากสำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับทีมงานนักพฤกษศาสตร์ญี่ปุ่น  
          4. หญ้าคางเลือยตะนาวศรี ชื่อพฤกษศาสตร์ Scutellaria tenasserimensis A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae หญ้าคางเลือยตะนาวศรีเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามเขาหินปูนตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีในไทยและเมียนมา ในไทยพบหญ้าคางเลือยตะนาวศรีได้ที่บริเวณอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยในอำเภออุ้มผางพบบริเวณดอยหัวหมดซึ่งเป็นแหล่งที่พบพืชชนิดใหม่ของโลกหลายชนิดรวมทั้งช้องเจ้าฟ้า คำระบุชนิด “tenasserimensis” หมายถึงเทือกเขาตะนาวศรี   
          5. หญ้าคางเลือยเขาใหญ่ ชื่อพฤกษศาสตร์ Scutellaria khaoyaiensis A. J. Paton วงศ์ Lamiaceae หญ้าคางเลือยเขาใหญ่เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก พบขึ้นตามป่าดิบเขา โดยเฉพาะบริเวณเขาเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  คำระบุชนิด “khaoyaiensis” หมายถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งที่พบพืชชนิดนี้  
          6. ว่านแผ่นดินเย็นแม่โขง ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia mekongensis S. W. Gale, Schuit. & Suddee วงศ์ Orchidaceae ว่านแผ่นดินเย็นแม่โขงเป็นกล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก พบตามป่าผลัดใบ พบในไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลาวตอนเหนือ ในเวียดนามตอนเหนือและตอนใต้ และทางด้านตะวันออกของกัมพูชา คำระบุชนิด “mekongensis” หมายถึงลุ่มน้ำโขงแหล่งที่พบกล้วยไม้ชนิดนี้  
          7. ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia trangensis S.  Gale, Suddee & Duangjai, sp. nov. ined. วงศ์ Orchidaceae ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรังเป็นกล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก พบในป่าดิบชื้นที่ที่สวนพฤกษศาสาตร์ทุ่งค่ายและสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง จังหวัดตรัง ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ คำระบุชนิด “trangensis” หมายถึงจังหวัดตรัง แหล่งที่พบกล้วยไม้ชนิดนี้  
          8. ว่านแผ่นดินเย็นล้านนา ชื่อพฤกษศาสตร์ Nervilia marmorata S. W. Gale, Suddee & Duangjai, sp. nov. ined. วงศ์ Orchidaceae ว่านแผ่นดินเย็นล้านนาเป็นกล้วยไม้ดินชนิดใหม่ของโลก พบตามเขาหินปูนในแถบจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝนก่อนออกใบ อยู่ระหว่างการเตรียมเขียนตีพิมพ์ คำระบุชนิด “marmorata” หมายถึงใบที่มีลายคล้ายหินอ่อน   
          นอกจากนี้ สำนักงานหอพรรณไม้ยังเปิดบริการให้นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าใช้บริการหอพรรณไม้ และห้องสมุด ในเวลาราชการ การขอใช้บริการสามารถกรอกแบบฟอร์มที่สำนักงานหอพรรณไม้หรือดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.dnp.go.th/botany นิสิตและนักศึกษาให้อาจารย์ที่ปรึกษาทำหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานหอพรรณไม้ เพื่อขอใช้บริการได้ การยืมตัวอย่างพรรณไม้จะพิจารณาเฉพาะนักวิจัยที่มีรายชื่อเป็นผู้วิจัยในโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศ เท่านั้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...