ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมสุขภาพจิต ชวนฝึกสติ สู้เบาหวาน
13 พ.ย. 2558

         วันนี้ (13 พ.ย.58) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีองค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF)  ได้กำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่พบบ่อย ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นตามมา เช่น โรคหัวใจ ไตวาย และความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยปีนี้ รณรงค์ในประเด็น “Healthy eating and Diabetes” ที่ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติได้ประมาณการว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวาน  เกือบ 400 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากไม่เคยได้รับการตรวจวินิจฉัยมาก่อน โดย ทุก 7 วินาที จะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน 1 คน และคาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงถึงเกือบ 600 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านคนต่อปี สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจพฤติกรรมความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ และการบาดเจ็บ พ.ศ.2558 (ระดับเขตสุขภาพ) โดย กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข พบ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ร้อยละ 8.3 หรือ ประมาณ 5.5 ล้านคน

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยเบาหวานนอกจากต้องดูแลสุขภาพทางกายแล้วสุขภาพทางใจของผู้ป่วยก็ต้องดูแลเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยอาจแสดงปฏิกิริยาทางใจออกได้ในหลายลักษณะ บางคนอาจเกิดการต่อต้าน ไม่ยอมรับ รู้สึกโกรธ ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุ้นเคย หรือบางคนคิดว่าไม่เป็นไร ส่งผลให้ละเลย ไม่เห็นความสำคัญของการรักษาและการปฏิบัติตัว จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการเบาหวานได้ และเมื่อมีการยืนยันผลเลือดเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นการตรวจที่ถูกต้องและผลการตรวจเป็นที่เชื่อถือได้อาจทุเลาอาการโกรธลง แต่จะเปลี่ยนเป็นซึมเศร้าแทน โดยผู้ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นเบาหวานจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากถึง ร้อยละ 30 การคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวาน จึงมีความจำเป็น ซึ่งในโรงพยาบาลชุมชนก็ได้จัดให้มีบริการคัดกรองโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน แล้วเช่นกัน

          ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยเริ่มต้นที่ใจ ให้กำลังใจตนเองเพราะหากท้อแท้  ไม่ยอมช่วยเหลือตนเอง หรือไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ก็ยากที่จะมีความสุข ขณะเดียวกัน ครอบครัว และคนใกล้ชิดจำเป็นต้องให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีพลังใจที่จะสู้กับโรคต่อไป นอกจากนี้ การฝึกสติ เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่จะช่วย ป้องกัน บรรเทา และ บำบัดอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานนี้ได้ เพราะโรคเบาหวานเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้ง ความเครียด ขาดการ       ออกกำลังกาย น้ำหนักตัวเกิน ตลอดจนการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เป็นต้น แต่หากเรามีสติ ย่อมช่วยให้เรามีความยั้งคิด มีอารมณ์ผ่อนคลาย ลดซึมเศร้า ตระหนักรู้ที่จะดูแลตัวเอง รู้จักเลือกที่จะรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ   ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี  ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว 13 พ.ย.58

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...