ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
ไทยเสี่ยงสารเคมีอันตรายเกลื่อนสินค้าเกษตร
04 เม.ย. 2560

จับตา 30 วันอันตราย ! ความพยายามในการเปลี่ยน “แผ่นดินอาบสารพิษ” ให้เป็น “ประเทศไทยปลอดภัย” 
              หลังคณะทำงานกระทรวงสาธารณสุขมีมติแบน ???? พาราควอท คลอไพรีฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสท
              หลัง 'ไทยแพน' รายงานผลการปนเปื้อนของสารพิษกำจัดศัตรูพืชตกค้างมาตรฐานเกินครึ่ง (51.4%) เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา สำทับด้วยคลิปที่เผยแพร่โดยมหาวิทยาลัยมหิดลที่พบว่า ผักผลไม้ในท้องตลาดมีสารพิษตกค้างสูงตั้งแต่ 90-100% 
นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเอาจริงเอาจัง โดยรัฐมนตรีนั่งเป็นหัวโต๊ะในการประชุมเองทุกครั้ง
              ล่าสุด “คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข  ตัวแทนของหลายหน่วยงานในกระทรวง ตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ มกอช. กรมโรงงานอุตสาหกรรม และนักวิชาการด้านสุขภาพจากหลายสถาบัน ได้หารือจนได้ข้อยุติแล้ว โดยเสนอให้มีการ
 'ยกเลิกพาราควอต และคลอไพรีฟอส' ส่วนไกลโฟเสทให้มีมาตรการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด
              พาราควอต สารเคมีชนิดนี้ถูกนำเข้ามากที่สุดเป็นอันดับสอง มีสัดส่วนสูงถึง 20% ของสารเคมีที่ประเทศไทยนำเข้ามาทั้งหมด คนทั่วไปมักรู้จักกันในชื่อการค้า “กรัมม็อกโซน” เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษเฉียบพลันสูง และไม่มียาถอนพิษ จะมีการประกาศไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน ไม่ต่ออายุทะเบียน และกำหนดให้มีการยกเลิกการใช้ในปี 2562   แม้การเคลื่อนไหวนี้จะช้ากว่าจีนที่ได้ยกเลิกการใช้แล้วในปี 2559 ที่ผ่านมา และเวียดนามซึ่งประกาศยกเลิกการใช้ในปีนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยทุกคน
              คลอไพรีฟอส เป็นหนึ่งในสารพิษที่พบตกค้างมากที่สุดในผักและผลไม้ และเป็นหนึ่งในสารเคมีกำจัดแมลงที่นำเข้าสูงสุด งานศึกษาวิจัยฟันธงแน่ชัดว่าส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กอย่างถาวร คณะทำงานมีความเห็นว่าควรยกเลิกการใช้เช่นเดียวกับพาราควอต เนื่องจากการจำกัดการใช้โดยห้ามไม่ให้ใช้ในผักและผลไม้อย่างเดียวนั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้เพราะในที่สุดก็จะวนเข้ามาใช้ในพืชอาหารอยู่ดี
              ส่วนไกลโฟเสต ซึ่งมักรู้จักกันในชื่อการค้า “ราวด์อั๊พ” สารพิษที่นำเข้ามากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ(IARC) ขององค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งชั้น 2A สารนี้มีพิษรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disruptor) ซึ่งจะส่งผลต่อทุกอวัยวะในร่างกายนั้น คณะทำงานเสนอให้มีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ห้ามใช้ในพื้นที่สูงและพื้นที่ต้นน้ำ แม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำ พื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่สาธารณะ และเขตชุมชน 
              ในช่วง 1 สัปดาห์หลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเชิญหน่วยงานต่างๆเพื่อวางแนวปฏิบัติในการดำเนินการให้มติดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติ 
              การทำงานขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ควรสนับสนุน และมีผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังหลายท่านควรได้รับการชื่นชมซึ่งไบโอไทยจะนำมาเสนอต่อไป
              ขณะนี้กระบวนการยกเลิกและจำกัดการใช้ซึ่งถือได้ว่าคืบหน้าไปมากแล้วนั้น คงเหลือเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเคาะเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรจะประกาศเกี่ยวกับการไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนหรือจำกัดการใช้  ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องประกาศจัดให้พาราควอต และคลอไพรีฟอส เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ที่ต้องยกเลิกการใช้และมีไว้ในครอบครองนั้น ถ้าดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็วก็ดี แต่ถึงช้าคำประกาศ/นโยบายไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน และยกเลิกทะเบียนในปี 2562 ก็จะมีผลให้ทั้งพาราควอตและคลอไพรีฟอสเป็นสารที่ผิดกฎหมายเมื่อนำมาใช้อยู่ดี (เช่นเดียวกับกรณีการควบคุมเมโทมิล และคาร์โบฟูราน)
              จับตาบทบาทเชิงรุกของ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ซึ่งท่านหลังได้เชิญให้ไทยแพนเข้าร่วมหารือเป็นกรณีพิเศษเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรในวันที่ 24 มีนาคมนี้) ว่าจะทำอย่างไรในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าเพื่อแก้ปัญหา “แผ่นดินอาบสารพิษ”
              จับตาว่ากรมวิชาการเกษตรจะประกาศยกเลิกการขึ้นทะเบียนพาราควอตและคลอไพรีฟอสเมื่อใด ?
              จับตาว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีกลุ่มผลประโยชน์จากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั่งอยู่ในกรรมการดังกล่าว จะหาวิธีฉุดรั้งการแบนทั้งสองสารดังกล่าว เช่นเดียวกับที่ยื้อไม่ให้มีการแบนเมโทมิล และคาร์โบฟูราน อีกหรือไม่ ? อย่างไร ?
              ส่งต่อข่าวสารนี้ออกไป เพื่อสนับสนุนองค์กรและบุคคลที่ร่วมกันทำให้พืชผลและแผ่นดินปลอดภัยขึ้น และอย่ากระพริบตาเพื่อจับตาการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่ม ที่อ้างเหตุผลนานาประการให้รัฐบาลยับยั้งมติดังกล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...