ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
พาณิชย์ส่งเอกสารชี้แจงสหรัฐฯ เรื่องการขาดดุลการทางค้า
12 พ.ค. 2560

กระทรวงพาณิชย์ส่งคำชี้แจงต่อเอกสาร Federal Register ว่าด้วย Executive Order 13786 ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทย ซึ่งเกิดจากเชิงโครงสร้างระหว่างเศรษฐกิจไทยและสหรัฐฯ และไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติหรือใช้นโยบายที่ไม่เป็นธรรม

          นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบคำชี้แจงต่อเอกสาร Federal Register ว่าด้วย Executive Order 13786 ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ที่เปิดรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับ 13 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยมีกำหนดเวลาให้ผู้สนใจยื่นข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 และจะจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยหลังการประชุม ครม. ผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศได้หารือปรับถ้อยคำบางส่วนให้สอดคล้องกับการหารือใน ครม. และกระทรวงพาณิชย์ได้นำส่งเอกสารให้ทางฝ่ายสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้วภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและรวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำคำชี้แจงฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งทางด้านสังคม การเมือง และความมั่นคง โดยเนื้อหาสาระในคำชี้แจงฯ เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาที่ยาวนานถึง 184 ปี มีสนธิสัญญาไมตรีไทย-สหรัฐฯ เป็นหลักสำคัญของความสัมพันธ์ รวมทั้งมีเวทีหารือภายใต้ความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ (TIFA) และข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก (WTO) เป็นพื้นฐานด้านภาษีและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน

สำหรับประเด็นเรื่องการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทยนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า มูลค่าการขาดดุลไม่ได้มีมูลค่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐฯนอกจากนี้ การส่งออกของสหรัฐฯ มาไทย ที่ผ่านมาขยายตัวไม่สูงนัก เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย และการลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ในไทยชะลอตัว นอกจากนี้ สินค้าไทยที่สหรัฐฯ นำเข้ามีส่วนช่วยในพัฒนาการเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน อาทิ สินค้าขั้นกลางที่นำไปเพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในสหรัฐฯ และสินค้าที่ใช้วัตถุดิบสินค้าเกษตรจากไทย รวมทั้งไทยยังได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้มีการจ้างงานคนในสหรัฐฯ จำนวนมากเป็นหมื่น ๆ คน ในฝ่ายสหรัฐฯ มีการลงทุนและการประกอบธุรกิจบริการในไทยจำนวนมากและหลากหลาย โดยประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกของบริษัทสหรัฐฯ หลายแห่งไปในภูมิภาคและเชื่อมโยง value-chain ของทุนสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย ดังนั้น การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ จึงเป็นไปตามความแตกต่างและเกื้อกูลกันเชิงโครงสร้างระหว่างเศรษฐกิจไทยและสหรัฐฯ และไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติหรือใช้นโยบายที่ไม่เป็นธรรม

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการนำเสนอตัวเลขข้อเท็จจริงในด้านการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่ายแล้ว ในด้านนโยบายการค้า ไทยชี้แจงว่า ยึดมั่นในหลักเศรษฐกิจระบบตลาด สอดคล้องกับหลักการภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งด้านมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี และสองประเทศมีการหารือประเด็นทางการค้าการลงทุนระหว่างกันเป็นประจำภายใต้เวที TIFA ซึ่งหัวข้อหนึ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญมาตลอด คือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไทยให้ข้อมูล update มาตรการที่รัฐบาลเร่งรัดการปฏิบัติตามกฎหมายด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า การพยายามแก้ปัญหา backlog ของสิทธิบัตร เป็นต้น และยังมีความร่วมมือกับสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดทำแผนดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ที่เน้นด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย นอกจากเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ไทยได้เสนอความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และสิทธิแรงงานด้วย

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ไทยเน้นว่า ไม่มีการใช้นโยบายที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความสามารถในการส่งออกโดยไม่เป็นธรรม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลโดยเน้นการสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก สำหรับการปฏิรูปภายใน ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันไทยกำลังปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ เช่น การแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ สำหรับนโยบาย Thailand 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ด้วย ทั้งการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ มาไทยเพิ่ม และด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ มีเทคโนโลยีสูง

โฆษกกระทรวงพาณิชย์สรุปว่า การยื่นเอกสารข้อมูลและคำชี้แจงครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้เน้นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน หลากหลายมิติ และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้หารือกันทางโทรศัพท์ และคาดว่าจะมีการพบปะระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายในอนาคต ก็จะยิ่งย้ำถึงศักยภาพที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ที่เป็นความสนใจร่วมกันได้อีกมากในอนาคต

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...