ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กรมชลประทาน วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2560
22 พ.ค. 2560

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2560 อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันนี้ 16 พ.ค. 60 ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2560 พร้อมกับวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี พ.ศ. 2560 โดยให้สอดคล้องกับนโยบายการผลิตข้าวครบวงจร 15.95 ล้านไร่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้ 

การบริหารจัดการน้ำและการวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2560 ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานทั่วประเทศ โดยในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 7.6 ล้านไร่ นั้น กรมชลประทาน ได้ปรับปฏิทินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ให้ทำนาปีให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 31 ก.ค. 60 เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลาก และจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำนี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ/รับน้ำนองในช่วงเดือนสิงหาคมได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งตรงกับความต้องการและได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้วเต็มพื้นที่ พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับปฏิทินการส่งน้ำเพื่อทำนาปีให้เร็วขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 1.15 ล้านไร่ โดยเริ่มส่งน้ำให้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 60 เป็นต้นมา เพื่อเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม หลีกเลี่ยง น้ำหลากในเดือนกันยายนของทุกปี และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จแล้ว จะใช้เป็นพื้นที่ตัดยอดน้ำบริเวณหน้า เขื่อนเจ้าพระยาในช่วงที่เกิดน้ำหลาก โดยสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่เป้าหมายที่วางไว้ สำหรับพื้นที่ดอน 6.19 ล้านไร่ ได้เริ่มส่งน้ำให้ทำการเพาะปลูกแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 60 ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 700,000 ไร่

ส่วนในพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ รวมทั้งลุ่มน้ำแม่กลอง และพื้นที่นอกเขตชลประทานทั่วประเทศ หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทาน ได้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ ฝนที่ตกชุกและตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 16 – 20 พ.ค. 60 ส่งผลดีต่อพื้นที่การเกษตร เนื่องจากเกษตรกรจะใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกเป็นหลัก ทำให้ลดการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก จากเดิมวันละ 43 ล้าน ลบ.ม. เหลือวันละ 11.62 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในกรณีที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ 

ในส่วนของแผนการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ(ฤดูฝน) พ.ศ. 2560 นั้น กรมชลประทานและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน บูรณาการทำงานร่วมกันในรูปแบบของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ โดยจะมีการประชุมเพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันทุกสัปดาห์ พร้อมไปกับการคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ-อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยใช้ ReservoirReservoir Operation Simulation และ Reservoir Operation Rule Curve รวมไปถึงการเตรียมพร้อมใช้งานอาคารชลประทาน การเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลัก ดันน้ำ เครื่องจักรเครื่องมือในการระบายน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์หากเกิดอุทกภัย รวมทั้งการกำจัดผักชวาในคลองและแม่น้ำสายต่างๆ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ฤดูฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับปี 2542 โดยปริมาณฝนรวมทั้งประเทศจะสูง กว่าค่าปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม มีโอกาสที่จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือมีฝนตกน้อย อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตรได้ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงขอให้ ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

ส่วนในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจก่อให้เกิดสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทาน ทุกแห่งเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้มีที่ว่างเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาตามความเหมาะสม รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานท้องถิ่นที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำล่วงหน้า ตลอดจนประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการตรวจสอบสภาพความพร้อมใช้งานของอาคารชลประทาน ที่ใช้ในการส่งน้ำและระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นอาคารชลประทานหรือสถานีสูบน้ำ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งทางน้ำชลประทานและทางน้ำในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ หากมีปัญหาด้านการระบายน้ำให้ดำเนินการแก้ไขโดยทันทีต่อไปแล้ว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...