ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
“วังขนาย” รุกตลาดเอาใจคนรักษ์สุขภาพ ปั้นผลิตภัณฑ์อ้อยอินทรีย์รายแรกของไทย
22 ต.ค. 2558

ปัจจุบันเกษตรอินทรีย์ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการเกษตรเมืองไทย ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากกระแสรักษ์สุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อย เริ่มหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันอย่างจริงจัง แต่ภาพรวมก็ยังต้องถือว่ายังน้อยอยู่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ

  สำหรับในส่วนของอ้อย การปลูกอ้อยโรงงานในปัจจุบัน เกษตรกรมีการใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็นและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยหลังจากไถเตรียมดินยกร่องจะฉีดยาคุมวัชพืช ตามด้วยใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้น เมื่ออายุอ้อยได้ 2-3 เดือน จะฉีดยาฆ่าหญ้าและใส่ปุ๋ยเคมีแต่งหน้า บางครั้งมีการฉีดยาป้องกันโรคและแมลง เมื่อถึงฤดูหีบอ้อยเกษตรกรส่วนใหญ่จะเผาอ้อยแล้วตัดส่งโรงงาน ทำให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับปลูกอ้อยทุกวันนี้เฉลี่ย 100-150 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าปีใดคาดว่าราคาอ้อยสูงจะใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจะไม่ได้ส่งตัวอย่างดินไปตรวจ การใช้ปุ๋ย สูตรปุ๋ย วัตถุอันตราย อาทิ ยาปราบวัชพืช โรคแมลง ส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามคำแนะนำจากหน่วยงานทางวิชาการ แต่มักใช้ตามๆ กันจากคำแนะนำของผู้จำหน่าย ขณะเดียวกันสารเคมีบางอย่างก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร 

  นอกจากอันตรายของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพของเกษตรกรแล้ว การตกค้างของสารเคมีและวัตถุอันตรายทำให้เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อม ได้แก่ เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืชในดิน สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในดินถูกทำลายเสียหาย ดินเสื่อมสภาพต่อการเพาะปลูก การเจริญเติบโตของพืชไม่สมบูรณ์แข็งแรง ทำให้การระบาดของโรคและแมลงเกิดง่ายขึ้น ผลผลิตตกต่ำ ซึ่งจากผลกระทบทั้งหมด ทำให้เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดโรคแมลงและวัชพืชเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น จึงส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรมีการปนเปื้อนสารเคมี เป็นอันตรายต่อผู้ปลูก ผู้บริโภค และมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีกด้วย

  กลุ่มวังขนายได้เล็งเห็นว่า หากเกษตรกรยังมีการปลูกอ้อยโรงงานโดยใช้สารเคมีแบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศอย่างแน่นอน และอาจนำมาซึ่งการกีดกันทางการค้าจากตลาดโลก จึงได้เริ่มประกาศนโยบายการผลิตน้ำตาลออร์แกนิค และเริ่มดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกอ้อยอินทรีย์ ตั้งแต่ปี 2547 จนสามารถผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิคจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เมื่อปี 2554 ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ที่ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลออร์แกนิค โดยมีบริษัท ไบโออะกริเสิร์ช ประเทศอิตาลี เป็นผู้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมาตรฐานที่กลุ่มวังขนายผ่านการรับรอง คือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป , มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศญี่ปุ่น จนผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิค จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีนและญี่ปุ่น

  ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า หลังจากกลุ่มวังขนายเริ่มมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลุกอ้อยอินทรีย์เมื่อปี 2547 ปีต่อมาก็ได้ออกแผนแม่บทในการพัฒนาทั้งในด้านการลดต้นทุน การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพในทุกมิติ ปีถัดมาจึงเริ่มจัดทำคู่มือการปลูกอ้อยอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM ((International Federation of Organic Agriculture Movement)จัดตั้งระบบควบคุมภายใน (Internal Control System : ICS) เพื่อติดตามตรวจรับรองแปลงแปลงอ้อยอินทรีย์เบื้องต้น และพัฒนาต่อมาจนปัจจุบัน

  สำหรับการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ในระยะเริ่มมีการคัดเลือกเกษตรกร 200 ราย ตามความสมัครใจ แต่มีหลักสำคัญคือ แปลงที่จะทำอ้อยอินทรีย์ต้องมีแนวป้องกันที่แสดงอาณาเขตอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีจากแปลงข้างเคียง จากนั้นจะมีการฝึกอบรมให้ความรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เอง นอกจากนั้น ยังจะได้รับการแนะนำจากนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมฝ่ายจัดหาอ้อยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาจนถึงการตัดอ้อยเข้าหีบ เช่น การปฏิบัติดูแลแปลงอ้อยระยะต่างๆ การควบคุมกำจัดวัชพืช การกำจัดโรค-แมลงการ ใช้ปุ๋ย สารอินทรีย์บำรุงดินและการบันทึกข้อมูลปฏิบัติการต่างๆ ในการปลูกอ้อย ส่วนการขยายโครงการในระยะต่อไป ก็จะมีการรับสมัครเพิ่มขึ้นในทุกปี

  นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ อีกเพื่อเป็นแรงจูงใจในการหันมาปลูกอ้อยอินทรีย์ ดังนี้คือ การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าโครงการ , ค่าดำเนินการตรวจแปลง และค่าดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Certificate) ปัจจัยการผลิต ที่สนับสนุน ได้แก่ ฟิลเตอร์เค้ก , ชานอ้อย , พืชปุ๋ยสด และ ปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูก เงินเพิ่มค่าอ้อยอินทรีย์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่ผลผลิตยังอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนจะได้รับเงินเพิ่ม 50 บาทต่อตัน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและผลผลิตได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว จะได้รับเงินเพิ่ม 100 บาทต่อตัน รวมถึงหากมีค่าความหวานเพิ่มขึ้น ก็จะได้รับเงินตามความหวานต่อหน่วยต่อตัน

  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย ยังได้เปรียบเทียบระหว่างการปลูกอ้อยอินทรีย์และอ้อยทั่วไปไว้อย่างน่าสนใจว่า ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการปลูกอ้อยแบบทั่วไปและแบบอ้อยอินทรีย์ แม้จะมีรายการคล้ายกัน คือ ค่าแรงงาน ได้แก่ ค่าไถเตรียมดิน ค่าปลูกอ้อย ค่าติดตามดูแล และค่าวัสดุ ได้แก่ ค่าปุ๋ย ค่าพันธุ์อ้อย ค่าสารป้องกันกำจัดโรค-แมลง เป็นต้น แต่การปลูกอ้อยใหม่ อ้อยอินทรีย์อาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการเตรียมรูปแปลง การทำแนวกันชนป้องกันการปนเปื้อนและค่าปลูก การไถกลบพืชปุ๋ยสด ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายการทำอ้อยอินทรีย์ในปีแรกสูงกว่าการปลูกอ้อยทั่วไป มีผลต่อรายได้การปลูกอ้อย ตัวอย่างคือ ปลูกอ้อยใหม่ปีแรกอ้อยทั่วไปได้กำไรต่อไร่เบื้องต้น 4,757 บาท อ้อยอินทรีย์ได้ 3,955 บาท และในปีต่อไป อ้อยทั่วไปได้กำไร 5,390 บาท แต่อ้อยอินทรีย์ได้กำไร 7,160 บาท (ขึ้นอยู่กับราคาอ้อยและค่าตอบแทนอื่นๆ)

  แต่อย่างไรก็ดี จากการดำเนินการปลูกอ้อยอินทรีย์ เกษตรกรสามารถไว้ตอได้มากกว่าอ้อยทั่วไปอย่างน้อย 1 ปี จำนวนตอมากกว่า 2 ตอ มากกว่าอ้อยทั่วไปที่ได้เพียง 1-2 ตอ ต้นเขียว ข้อยาว อยู่ได้นาน และสิ่งสำคัญที่การปลูกอ้อยอินทรีย์ได้มากกว่าการปลูกอ้อยแบบทั่วไปคือ ความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภคจากสารเคมีและสารพิษ สภาพแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศคืนสู่สมดุลธรรมชาติ ผลผลิตอ้อยที่ได้ทนแล้ง ทนโรค น้ำหนักเพิ่ม ผลผลิตเพิ่ม ความหวานเพิ่ม ต้นอ้อย และในอีกมุมก็จะช่วยประหยัดในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีทั้งเรื่องของปุ๋ยและศัตรูพืชอักด้วย

  ปัจจุบัน มีเกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์ จำนวน 800 ราย คิดเป็นพื้นที่จำนวน 30,000 ไร่ ผลิตน้ำตาลออร์แกนิคได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ตัน และเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น กลุ่มวังขนายรณรงค์ ส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ถึง ร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิคส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนั้น กลุ่มวังขนายยังมีนโยบายกำหนดราคาน้ำตาลออร์แกนิคให้มีราคาใกล้เคียงกับน้ำตาลปกติที่จำหน่ายทั่วไป เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้บริโภคอาหารปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายที่ดีอีกด้วย ในขณะที่ราคาขายในต่างประเทศจะมีราคาสูงกว่าน้ำตาลทั่วไปถึง 3 เท่าตัว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...