ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมสุขภาพจิต รุกเข้าหาชุมชน นำร่อง กว่า 1,500 ตำบล ดูแลจิตใจประชาชนทุกกลุ่มวัย เปิดเวทีส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตระดับประเทศ โชว์ผลงานและนวัตกรรม
22 มิ.ย. 2560

วันนี้ (22 มิ.ย.60) ที่ รร.ปรินซ์พาเลซ กทม. นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังการเปิดโครงการสัมมนาการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิด้านการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชน ภายใต้กลไกระบบสุขภาพระดับอำเภอ ว่า ปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวชเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยล่าสุดจากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ.2556 ซึ่งดำเนินการสำรวจต่อเนื่องทุก 5 ปี ในกลุ่มประชากร อายุ18 ปีขึ้นไป พบว่า คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ประมาณ 7 ล้านคน เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคตื่นตระหนก ภาวะสะเทือนขวัญหลังเผชิญเหตุการณ์รุนแรง ปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติด อาการทางจิตหลงผิด การติดพนัน และปัญหาการฆ่าตัวตาย    เป็นต้น

           อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การส่งเสริมและป้องกันปัญหา จึงย่อมดีกว่าการแก้ไข ซึ่งตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ได้มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน 4 ด้าน ซึ่ง 1 ในนั้น คือ  ด้านการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพ  โดยกรมสุขภาพจิตได้ใช้กลไกตำบลจัดการสุขภาพ เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้กับคนในชุมชนในระดับตำบล ภายใต้ระบบสุขภาพระดับอำเภอ ซึ่งการกระจายลงไปสู่ตำบลจัดการสุขภาพ จะทำให้คนในชุมชนได้รับการดูแล และได้รับการส่งเสริมสุขภาพจิตได้ตรงกับสภาพปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ได้อย่างครบถ้วน ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการร่วมกันค้นหา วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ด้วยตัวเอง ถือเป็นการตอบโจทย์สำคัญของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี ที่เกิดจากรากฐานของชุมชนนำไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยและเพิ่มความแข็งแรงให้กับประชาชนทั่วทุกกลุ่มวัยในประเทศ เกิดการเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น รวดเร็วขึ้น ตรงจุดมากขึ้น ประชาชนสามารถช่วยกันค้นหาผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต เมื่อพบเร็วก็จะมีผู้ดูแลเบื้องต้นในพื้นที่เข้ามารับช่วงต่อ แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเกินความสามารถในการดูแล ก็จะสามารถส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่อไปได้

           ทั้งนี้  Thailand 4.0  คาดหวังเห็นคนไทยเป็น “ Smart Citizen” มีคุณภาพ สมบูรณ์ทั้งกายและใจ มีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข ซึ่งจะพัฒนาและสร้างคนให้มีคุณภาพตลอดช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่ ปฐมวัย โดยในช่วง 5 ปีแรก ตั้งเป้าหมาย ให้เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัย มีระดับสติปัญญา หรือ ไอคิว มากกว่าหรือเท่ากับ 100 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐาน มีความฉลาดทางอารมณ์ หรือ  อีคิว อยู่ในเกณฑ์ปกติ มากกว่า ร้อยละ 80  โดยจะได้รับการพัฒนาและคัดกรองความฉลาดทางสติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ หากพบปัญหาจะให้การช่วยเหลือดูแล สำหรับกลุ่มวัยรุ่น จะมีการประเมินคัดกรองดูแลภาวะทางอารมณ์และพฤติกรรม หากพบความผิดปกติ จะได้รับการปรับปรุง แก้ไข ให้มีทักษะชีวิต ทักษะทางอารมณ์และสังคมที่ดี ขณะที่กลุ่มวัยทำงานจะประเมินในเรื่องของความสุขและความเครียดจากการทำงาน เสริมสร้างทักษะในการจัดการกับความเครียดมีความสุขในการทำงานและมีภูมิคุ้มกันทางใจและ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่มีความเสี่ยงสูงและเป็นปัญหาที่หลายพื้นที่เลือกมาเป็นประเด็นสุขภาพสำคัญ ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ติดบ้าน ติดเตียง ในกลุ่มนี้ จะได้รับการประเมินและทดสอบ ตลอดจนจัดกิจกรรมสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุ ให้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ มีคุณค่า มีความสุข ทั้งกาย และใจ ทั้งนี้ จะอาศัยตำบลจัดการสุขภาพ ซึ่งมีอยู่ 7 พันกว่าแห่ง  โดยใช้กลไกของ อสม. รพ.สต. และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาช่วยกันวางระบบดูแลสุขภาพจิตชุมชนร่วมกัน ตั้งแต่การตรวจเยี่ยม ประเมิน คัดกรอง และวินิจฉัย ว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ ถ้ามีจะให้การช่วยเหลืออย่างไร และถ้าเป็นมากสามารถส่งรักษา ใน รพ.เฉพาะทางได้ ที่สำคัญมีการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษา เมื่อกลับเข้าสู่ชุมชน ไม่เกิดตราบาป มีที่ยืนในสังคม และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า โดย ในปี2560 ได้นำร่องที่ 1,500 กว่าตำบล และจะขยายผลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ใน 3 ปี “การจะทำให้งานสุขภาพจิตชุมชนสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี หัวใจสำคัญ อยู่ที่ประชาชนต้องวิเคราะห์ถึงปัญหาสุขภาพจิตได้และนำมาสู่การแก้ไขและใช้มาตรการด้านสุขภาพจิตในการป้องกันและรักษา ตลอดจนประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทางด้านสุขภาพจิต รู้ว่าเมื่อไรเรียกว่าสุขภาพจิตไม่ดี แล้วควรทำอย่างไร รักษาได้หรือไม่และที่ไหน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาชนสามารถจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองและคนรอบข้างได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

                 ด้าน นางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเด็นสุขภาพที่หลายพื้นที่มองว่าเป็นปัญหาและเลือกมาเป็นประเด็นสุขภาพสำคัญในการดำเนินงานร่วมกัน ในปี 2560 ยังคงเป็นประเด็นสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ติดบ้าน ติดเตียง ประเด็นที่มีการนำการดำเนินงานสุขภาพจิตมาบูรณาการมากที่สุด  ได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การส่งเสริม/ป้องกันสุขภาพในชุมชน ปัญหาสุรา/สารเสพติด พัฒนาการเด็ก และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นต้น  ซึ่งการจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน ณ  โรงแรม ปรินซ์พาเลซ กทม. เพื่อเป็นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้      การบูรณาการประเด็นสุขภาพจิตตามกลุ่มวัย นำเสนอผลการดำเนินงานสุขภาพจิตในมิติของการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตระดับประเทศ ตลอดจนเป็นการยกย่อง เชิดชูเครือข่ายสุขภาพที่มีผลการดำเนินงานสุขภาพจิตที่ดีเยี่ยมและเป็นต้นแบบให้กับภาคีเครือข่ายในการประยุกต์งานสุขภาพจิตเข้ากับการดำเนินงานในตำบลจัดการสุขภาพ ภายใต้ระบบสุขภาพระดับอำเภอ  ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารกรมสุขภาพจิต บุคลากรจากศูนย์สุขภาพจิต เครือข่ายสุขภาพอำเภอจากทั่วประเทศ แกนนำชุมชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 600 คน ตลอดจนมีการนำเสนอผลงานและนิทรรศการ นวัตกรรมของชุมชนที่น่าสนใจ อาทิ กูแบบาเดาะโมเดล ต้นแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชรายกรณี นวัตกรรม    พัดสุขภาพ ยางยืดมหัศจรรย์ สำหรับผู้มีปัญหาข้อไหล่ติด คนไข้ติดเตียง ถุงหอมคลายเครียดสำหรับผู้มีภาวะซึมเศร้า    วิตกกังวล นวัตกรรมกลองยาวพาสุข เพื่อนช่วยเพื่อนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ หรือ การส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กวัยเรียนด้วยการเล่นเปียโน 1 to 5 เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...