ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
การลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิต และภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
13 ก.ค. 2560

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าว่า เมื่อวันที่ 14 – 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้นำคณะผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการช่วยเหลือฯ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวฯ ณ จังหวัดสกลนคร ทั้งโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยภายหลังจากการลงพื้นที่ติดตามภาพรวมความสำเร็จของโครงการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการหัตถกรรมสิ่งทอ (Crafts Textile Estate) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อปี 2559 ครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานรวม 13 จังหวัด  การเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ประกอบการหัตถกรรมสิ่งทอ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการหัตถกรรมสิ่งทอที่เข้าร่วมโครงการได้รับการเตรียมความพร้อม และสามารถพัฒนารูปแบบการผลิต และกระบวนการผลิตโดยการใช้สีธรรมชาติ ประกอบด้วยสีหลัก 4 สี ได้แก่ สีน้ำเงินจากครามและฮ่อม สีแดงจากครั่งและฝาง สีเหลืองจากมะพูดและใบมะม่วง และสีดำจากกะลามะพร้าวเผา เขม่า ผงคาร์บอน โดยการพัฒนาผงสีให้มีจำนวนเฉดสีที่หลากหลายถึง 15 เฉดสี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ โดยใช้ต้นทุนและเวลาในการทำงานที่ลดลง สามารถส่งไปจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร มีโครงการที่อยู่ในระหว่างเริ่มต้นดำเนินการซึ่งเป็นโครงการในปีงบประมาณ 2560 พบว่าทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งที่ปรึกษาโครงการได้เริ่มต้นการดำเนินงานแล้ว ประกอบด้วยโครงการต่างๆ ดังนี้

·     โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตโคเนื้อสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด สำหรับการแข่งขันในเขตการค้าเสรี (FTA) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ณ สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด อ.เมือง จ.สกลนคร พบว่าที่ปรึกษาโครงการได้เริ่มต้นจัดทำแผนงานโรงฆ่าสัตว์และระบบการชำแหละเนื้อให้ได้มาตรฐาน GMP และฮาลาล โดยมุ่งหวังเพื่อให้สหกรณ์มีแบบแปลนงานก่อสร้าง และมีผลการศึกษาที่ครอบคลุมการวางระบบโรงฆ่าสัตว์แบบมาตรฐาน GMP ซึ่งจะทำให้เกิดการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์อย่างถูกต้อง และสหกรณ์ฯ สามารถขอผ่านมาตรฐานฮาลาลได้ ทำให้การตลาดจำหน่ายเนื้อโคขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะความสามารถที่จะส่งออกสินค้าไปขายในตลาดกลุ่มประเทศมุสลิม

·     โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และพัฒนาระบบบริหารจัดการของสหกรณ์วาริชภูมิ จำกัด ณ สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร พบว่าในเบื้องต้น  ที่ปรึกษาโครงการได้มีการสำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตและตลาดเป้าหมาย เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์ฯ เพื่อให้ได้นมรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์ของสหกรณ์ฯ 1 รสชาติ และรสชาติอื่นๆ ตามผลการวิจัยตลาด 3 รสชาติ ซึ่งจะมีการจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดครอบคลุมใน 4 ภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์ฯ สามารถขยายโอกาสทางการตลาดสู่กลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น และเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันในตลาดภายในประเทศและมีความพร้อมสำหรับการส่งออกได้ในอนาคต

·      โครงการยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมระดับ 3 ดาวในเขตจังหวัดชายแดนไทย-ลาว (จังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหารณ โรงแรมเดอะ มาเจสติก อ.เมือง จ.สกลนคร โดยที่ปรึกษาโครงการได้เริ่มต้นทำการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรม เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมระดับ 3 ดาว ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 และจะจัดทำคู่มือการใช้รูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมระดับ  3 ดาว เพื่อนำมาจัดฝึกอบรมผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมใน 3 จังหวัดซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจในรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรม โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมระดับ 3 ดาวใน 3 จังหวัด (จังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหารยกระดับการบริหารธุรกิจโรงแรมอย่างมีคุณภาพ และมีการให้บริการเป็นมาตรฐานระดับ 3 ดาว  โดยนำขนบธรรมเนียมของพื้นที่มาใช้สร้างอัตลักษณ์ในการให้บริการ ซึ่งจะช่วยสร้างชื่อเสียงและความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวในเขตชายแดนไทย-ลาวเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ดี อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2560 กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวฯ เสร็จสิ้นแล้วจำนวนทั้งสิ้น 7 โครงการ คิดเป็นวงเงินประมาณ 16 ล้านบาท และขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดข้อเสนอโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวฯ สำหรับปีงบประมาณ 2561 โดยคาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเงินช่วยเหลือฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการได้ภายในเดือนกันยายนนี้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...