ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สธ.เซ็น MOU ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ใช้การสาธารณสุขแทนการลงโทษความผิด สู่เป้าหมายลดละเลิกยาเสพติด
19 ก.ค. 2560

      กระทรวงสาธารณสุข จับมือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมมือกันลดอันตรายจากยาเสพติด ใช้การสาธารณสุขนำการแก้ไขแทนการลงโทษความผิด

      ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการลดอันตรายจากยาเสพติด ระหว่างปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมมอบรางวัลเขตสุขภาพดีเด่นด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รางวัลเขตสุขภาพที่เร่งรัดขับเคลื่อนดีเด่นด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขายาเสพติด และรางวัลจังหวัดดีเด่นด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขายาเสพติด ระดับเขตสุขภาพ ประจำปี 2560

     ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวไทย ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตรวมถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติด  รัฐบาลและข้าราชการพร้อมใจกันน้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาใช้ในการปฏิบัติงานด้านยาและสารเสพติด  โดยกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติและเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องเร่งแก้ไข เน้นบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดของประเทศ ขจัดความเดือดร้อนประชาชน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน บูรณาการระบบการบำบัดรักษา เพื่อให้ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดได้รับการดูแลอย่างครบวงจร ประสานและร่วมติดตามช่วยเหลือดูแลผู้ผ่านการบำบัด และสนับสนุนการดำเนินการในมาตรการอื่นๆ ให้กับส่วนราชการที่ได้รับมอบหมาย

     “ขณะนี้นโยบายการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติด ได้ใช้การสาธารณสุขนำการแก้ไขแทนการลงโทษความผิด คำนึงถึงสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยและเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงครอบคลุม สร้างหลักประกันว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือสามารถลดละเลิกยาเสพติดได้ ในกรณีที่ยังเลิกไม่สำเร็จให้ใช้มาตรการการลดอันตรายจากยาเสพติดมาใช้  ให้ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากยาเสพติดทั้งต่อตนเองหรือผู้อื่นในสังคม” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

     ทั้งนี้ 11 หน่วยงานได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมมือกัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มี 3 แนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1. พัฒนาศักยภาพและคุณภาพการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติด โดยเพิ่มมาตรการและให้ความสำคัญกับการลดอันตรายจากยาเสพติด 2. พัฒนาด้านวิชาการ ดูแล ควบคุม กำกับ ติดตาม และประสานงานการดำเนินการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด การให้ยาทดแทนระยะยาว การให้บริการลดอันตรายอย่างรอบด้าน พัฒนาความร่วมมือในการดำเนินการของสถานพยาบาลในสังกัด ตลอดจนพัฒนารูปแบบมาตรฐานการลดอันตรายจากยาเสพติดอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประเทศไทย 3. มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ให้การสนับสนุนการดำเนินการลดอันตรายจากยาเสพติด การให้ยาทดแทนระยะยาว การดูแลช่วยเหลือในชุมชนและการดำเนินการตามมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติดอื่นๆ ตลอดจนการสนับสนุนด้านทรัพยากร งบประมาณ การพัฒนาบุคลากร และการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม   

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...