ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
กทม. เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกดีขึ้นมาก แต่ยังคงเฝ้าระวังและกำจัดยุงลายต่อเนื่อง
05 ก.ย. 2560

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยเรื่องสถานการณ์โรคไข้เลือดออกภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 24/2560 ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 26 ส.ค. 60 สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในกรุงเทพมหานครถือว่าดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำความสะอาดคูคลองซึ่งมีส่วนช่วยในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างไรก็ตาม กทม. ยังคงให้ความสำคัญและดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต
โดยดำเนินการรณรงค์ป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่เสี่ยงของกรุงเทพฯ จำนวน 1,733 ชุมชน ฝึกอบรมพัฒนาทักษะการฉีดพ่นสารเคมี (หลักสูตรพื้นฐานและหลักสูตรฟื้นฟู) ให้ผู้ปฏิบัติงานจากสำนักงานเขต 50 แห่ง และสำนักอนามัย จำนวน 330 คน จัดประชุมชี้แจงและสื่อสารความเสี่ยงในการดำเนินงานกับผู้ปฏิบัติงาน สนับสนุนการดำเนินงานให้ชุมชนจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสานโดยดำเนินการต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีชุมชนที่ดำเนินการแล้ว จำนวน 173 ชุมชน รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Network รวมทั้งจัดมหกรรมประสานพลังต้านภัยไข้เลือดออก เมื่อวันที่ 12-14 พ.ค.60 ณ โรงเรียนวัดราชบพิตร และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 
 
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกด้วยว่า ในส่วนของการเฝ้าระวัง กทม. โดยสำนักอนามัย ได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดลำดับความเสี่ยง โดยการจัดทำสถานการณ์และแนวโน้มให้สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง ทุกสัปดาห์ สุ่มค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในพื้นที่เสี่ยงของ กทม. นอกจากนี้ยังดำเนินการควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อได้รับแจ้งว่าพบผู้ป่วย โดยใช้มาตรการเร่งด่วนสำหรับการควบคุมโรคระบาด คือ ประกาศแจ้งเตือนประชาชนพร้อมทั้งให้สุขศึกษาแก่ประชาชน การกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านผู้ป่วยและบริเวณรอบบ้านอย่างน้อย 100 เมตร และดำเนินการพ่นสารเคมีกำจัดยุงโตเต็มวัยให้ครอบคลุมพื้นที่รอบบ้านผู้ป่วยในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร เพื่อกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคและป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...